(เพิ่มเติม) คลัง เล็งทบทวนคาดการณ์ GDP ปี 55-56 อีกครั้งช่วงเดือน ธ.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 29, 2012 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ระบุว่า สศค.จะประเมินตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 55 อีกครั้งในช่วงเดือนธ.ค.55 ซึ่งล่าสุด สศค.ยังคาดการณ์ว่าในปีนี้ GDP จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 5.5% ส่วนปี 56 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 5.2%

อย่างไรก็ดี สำหรับตัวเลขการส่งออกนั้น คาดว่าในปีนี้การส่งออกมีโอกาสเติบโตได้ในระดับ 4.5-5% ซึ่งหากจะให้การส่งออกขยายตัวได้ 4.5% นั้น การส่งออกในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้(พ.ย.-ธ.ค.55) จะต้องมียอดส่งออกรวมกันราว 40,733 ล้านดอลลาร์ แต่หากจะให้การส่งออกขยายตัวได้ 5% นั้นในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้จะต้องมียอดส่งออกรวมกันราว 41,846 ล้านดอลลาร์

"ก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 2 กรณี ทั้ง 4.5 และ 5% เราขอดูสถานการณ์อีกเดือน" นายสมชัย ระบุ

ผู้อำนวยการ สศค. มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยรวมตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันพบว่าหลายประเทศต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป แต่จะเห็นได้ว่ารัฐบาลของหลายประเทศได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่หันมาเน้นด้านการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นหากทุกประเทศสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภายในได้ประสบผลสำเร็จก็เชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยและประเทศอื่นๆ ในปีหน้าให้ดีขึ้นได้กว่าปีนี้ โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 56 จะขยายตัวได้ราว 10.2%

“มันเป็นการส่งสัญญาณว่า จะหวังให้การส่งออกเป็นตัวจักรขับเคลื่อนหลักคงเป็นไปได้ยาก เพราะแต่ละประเทศต่างกระตุ้นเศรษฐกิจของตัวเองเป็นหลัก เน้นการเติบโตภายในประเทศทั้งด้านบริโภคและการลงทุน แต่หากทุกประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ โดยเฉพาะด้านการลงทุนในประเทศ ก็จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของแต่ละประเทศให้ดีขึ้นได้" นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับในประเทศไทยเองนั้นภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนต.ค.55 ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การส่งออกและภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก.ย.55

การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องสะท้อนได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนต.ค. 55 ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีอยู่ที่ 19.4% ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ 263.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากกำลังการผลิตของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ สามารถกลับมาผลิตได้เต็มประสิทธิภาพเป็นปกติหลังจากสถานการณ์วิกฤตอุทกภัยปลายปี 54

ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนต.ค. 55 ขยายตัว 15.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัว 1.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

นอกจากนี้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนต.ค. 55 กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยขยายตัวในระดับสูงอยู่ที่ 36.1% ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำของช่วงเดียวกันของปีก่อนจากวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 54 ขณะที่เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลขยายตัวได้ดีเช่นเดียวกันอยู่ที่ 4.9%

ส่วนในไตรมาส 4/55 คาดว่าจะเติบโตได้ในอัตราสูง ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้อุปสงค์ในประเทศเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเปรียบเทียบกับฐานทีต่ำในช่วงไตรมาส 4/55 ที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย

“จากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนต.ค. ทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลังจะปรับประมาณการเศรษฐกิจ และแถลงประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปี 55 และ 56 ในช่วงสิ้นเดือนธ.ค.55 ต่อไป" ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว

นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในประเทศขณะนี้ว่า ขณะนี้ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ล่าสุดอยู่ที่ 2.4% ของสินเชื่อโดยรวม ส่วน Net NPL อยู่ที่เพียง 1.2% ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่ต้องน่าเป็นกังวลแต่อย่างใด โดยเชื่อว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะไม่เกิดปัญหาที่มาจากกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย แต่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบจากกลุ่มคนที่มีรายได้สูงมากกว่า

“เราก็แค่ระมัดระวังกลุ่มคนรายได้ที่ไม่ถึง 10,000 บาทต่อเดือน ระวังการใช้จ่ายไม่ให้มีหนี้สินเกินตัว เพราะระบบเศรษฐกิจโดยรวมไม่เคยมีปัญหามาจากคนจน ตอนนี้นี้แบงก์ออมสินมี NPL แค่ 1% กว่าๆ ส่วน ธกส.มีไม่ถึง 3% ตราบใดที่ NPL ธกส.ไม่ใช่ 15% หรือออมสินไม่ใช่ 8% ก็ยังไม่ต้องเป็นห่วง" นายสมชัย กล่าว

พร้อมระบุว่า สศค.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบแบบครบวงจร ซึ่งคาดว่าในอีกประมาณ 2 สัปดาห์จะนำเสนอแนวทางการกำกับดูแลปัญหาหนี้นอกระบบต่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เนื่องจากมองว่าปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนมีความสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามาดูแลทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยาวที่อาจมีการออกกฎหมายขึ้นมากำกับดูแล รวมถึงอาจมีการจดทะเบียนกลุ่มหนี้นอกระบบเพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาให้สะดวกมากขึ้น

นายสมชัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 2 ล้านล้านบาท คาดว่ากระทรวงการคลังจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในเดือนธ.ค.นี้ และน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงต้นปีหน้า

โดยมองว่าการกู้เงินเพื่อมาใช้สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอาจไม่มีความจำเป็นต้องกู้เต็มจำนวน 2 ล้านล้านบาท เพราะอาจจะมีการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ประมาณ 10%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ