พืชไร่เสียหาย 0.08 ล้านไร่ คิดเป็น 0.25% ของพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ทั้งประเทศ มูลค่าความเสียหายของพืชไร่ มีมูลค่าทั้งสิ้น 494 ล้านบาท คิดเป็น 1.04% ของมูลค่าผลผลิตพืชไร่ที่คาดว่าจะได้รับในปีเพาะปลูก 2555/56
พืชสวนเสียหาย 0.006 ล้านไร่ คิดเป็น 0.02% ของพื้นที่เพาะปลูกพืชสวนทั่วประเทศ มูลค่าความเสียหายของพืชไร่ มีมูลค่าทั้งสิ้น 124 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% ของมูลค่าผลผลิตพืชสวนที่คาดว่าจะได้รับในปีเพาะปลูก 2555/56
โดยรวมคาดว่าผลกระทบจากภัยแล้งจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในเบื้องต้นประมาณ 35,502 ล้านบาท และคาดว่าผลจากภัยแล้งในครั้งนี้จะผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงรวม 6,752 ล้านบาท โดยเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขประมาณการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคเกษตรในปี 2555 ที่จะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 5% และคาดว่าผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งครั้งนี้ จะกระทบกับอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคเกษตร 1.62%
"คาดว่าภัยแล้งครั้งนี้อาจจะยาวนานจนถึงปลายพฤษภาคม 56 หรือ ต้นมิถุนายน 56"นายจารึก กล่าว
ดังนั้น การวางแผนการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งนั้น เป็นไปตามแผนของที่ประชุมคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยได้มีการกำหนดนโยบายและมาตรการ ดังนี้ 1.ด้านการจัดสรรน้ำ ได้มีการวางแผนการจัดการบริหารน้ำแบบยั่งยืน โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ 2.วางแผนและเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งในปี 2555/2556 มาตรการจำกัดการใช้น้ำแนะนำปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนนาข้าว โดยต้องนำพื้นที่ประสบภัยแล้งมาวิเคราะห์ว่า ปลูกพืชชนิดใดจึงจะเหมาะสมให้สมดุลกับปริมาณน้ำ
3.การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามระเบียบของกระทรวงการคลัง 4.การพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อการพยากรณ์และการแจ้งเตือนภัย และยังมีการเตรียมเรื่องการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย และ 5.ด้านการประชาสัมพันธ์ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ทางสื่อมวลชนต่างๆ ในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไปรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
นายจารึก กล่าวต่อว่า พื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ทำให้มีแนวโน้มว่าราคาข้าวในปีหน้าจะสูงขึ้นทั้งจากนโยบายการรับจำนำข้าวและผลจากภัยแล้ง และราคาข้าวสารอาจจะแพงขึ้น แต่เชื่อว่ารัฐบาลคงจะดูแลไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นโอกาสของภาคการส่งออก เนื่องจากภัยแล้งครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะประเทศไทย แต่คู่แข่งด้านการส่งออกข้าว ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เวียดนาม ก็น่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งด้วยเช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าประเทศเหล่านี้อาจจะต้องหันมาดูแลความมั่นคงทางด้านอาหารภายในประเทศตัวเองเป็นหลัก และชะลอการส่งออก เมื่อผู้ซื้อไม่มีที่ซื้อก็อาจจะหันมาซื้อข้าวจากไทยมากขึ้นจึงถือเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะได้ระบายข้าวในสต็อก
ด้านนางสาวจริยา สุทธไชยา ผู้อำนวยการศูนย์ประเมินผล สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า ที่ต้องจับตาคือ ภาคตะวันออกเนื่องจากมีทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว หากสถานการณ์ภัยแล้งลุกลามไปสู่ภาคตะวันออกอาจจะส่งผลกระทบขยายวงกว้างมากขึ้น
"ภาคตะวันออกต้องจับตาและต้องจัด Priority น้ำให้ดีเพราะมีทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม แลtภาคการท่องเที่ยว หากเกิดภัยแล้วขึ้นอาจจะการแย่งชิงน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบขยายวงกว้างขึ้น"นางสาวจริยา กล่าว