สนพ.-จุฬาฯระดมความเห็นจัดทำแผนแม่บทพลังงาน 20 ปี คาดแล้วเสร็จส.ค.-ก.ย.56

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 29, 2012 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำแผนแม่บทพลังงานของประเทศ 20 ปี เปิดเผยว่า การจัดทำแผนแม่บทฯ ซึ่ง สนพ.ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ ในการศึกษาได้มาสู่ขั้นตอนสุดท้ายของการจัดทำแผนฯ ระยะที่ 1 หลังจากได้รับฟังความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนจากทั่วประเทศมาแล้ว โดยจะนำเสนอผลการศึกษาที่ได้ในเบื้องต้นมาระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างอีกครั้ง เพื่อพัฒนาเป็นภาพอนาคตพลังงานของประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ เพื่อให้การกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศมีทิศทางที่ชัดเจนเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาสังคม และแนวโน้มสถานการณ์พลังงานโลก รวมทั้งรองรับสถานการณ์ไม่ปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก ปัญหาภัยธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว สึนามิ ซึ่งสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นถือเป็นความท้าทายที่สำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนพลังงานระยะยาวที่ประกอบด้วยกลไก และเครื่องมือที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ แผนแม่บทฯ ดังกล่าวยังนำเอาแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง และภาคการเกษตร เข้ามาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจัดทำด้วย เนื่องจากการใช้พลังงานของประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคส่วนอื่นๆ ที่กล่าวมา จึงควรที่จะบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อให้แผนนี้เป็นแผนที่เหมาะสมกับการใช้มากที่สุดในอนาคต

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ภายใต้หัวข้อ "แผนแม่บทพลังงานไทย ระยะที่ 1:ปัจจัยขับเคลื่อนและภาพอนาคตพลังงานในอีก 20 ปีข้างหน้า" ถือเป็นการนำเสนอบทสรุปของการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ปัจจัยเสี่ยง และลำดับความสำคัญของปัญหา รวมถึงภาพอนาคตพลังงานในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนแม่บทพลังงานของประเทศ การได้สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา นักวิชาการ องค์กรอิสระ และตัวแทนภาคประชาชนในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยในการนำข้อคิดเห็นเหล่านั้นมาใช้ในการปรับปรุงผลการศึกษา และใช้เป็นข้อมูลในการต่อยอดการพัฒนาแผนแม่บทพลังงานในระยะที่ 2 ในขั้นต่อไป

โดยขั้นตอนจากนี้คาดว่าจะรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นก็จะนำข้อมูลทั้งหมดเพื่อมาเขียนแผน โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.ปีหน้า ซึ่งแผนแม่บทฯ นี้จะมีเป้าหมายหลัก 2 ประการ คือ 1.การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน และ 2.ทำอย่างไรให้ประชาชนยอมรับการใช้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ในการพัฒนาด้านพลังงานในอนาคต

นายบัณฑิต กล่าวว่า เชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิลยังเป็นเชื้อเพลิงหลักที่จะใช้ในอนาคต แต่พลังงานหมุนเวียนก็จะเป็นอีกประเภทหนึ่งที่จะมีการพัฒนามากขึ้น และนอกจากนี้ ยังเห็นความจำเป็นของการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง และการใช้เชื้อเพลิงในอนาคตด้วย เพื่อไม่ให้มีการพึ่งพาพลังงานประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ