นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการ BOI เปิดเผยว่า BOI ได้ลงนามความร่วมมือด้านการลงทุน(MOU) กับองค์กรส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างประเทศของเขตคิวชู ประเทศญี่ปุ่น(Kyushu Economy International:KEI) ตามนโยบายของนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม ที่ให้ส่งเสริมและชักจูงให้เกิดการลงทุนกลุ่มใหม่ๆ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน และการสนับสนุนให้นักลงทุนไทยเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกับบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ
"เป็นโอกาสอันดีที่บีโอไอได้ร่วมลงนามในครั้งนี้ ซึ่งที่ผ่านมาบีโอไอมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับนักลงทุนในเขตคิวชูในการส่งเสริมการลงทุนระหว่างนักลงทุนของทั้งสองประเทศ" นายอุดม กล่าว
ขณะที่นักลงทุนจากญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเพราะเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่ง หรือ ประมาณร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างประเทศในภาวะปกติ อย่างไรก็ตามจากค่าเงินเยนที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะ 2-3 ปีนี้ ทำให้การลงทุนจากญี่ปุ่นที่ยื่นขอรับส่งเสริมในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.55 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด โดยเฉพาะด้าน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและชิ้นส่วนโลหะ
การลงนามความร่วมมือกับ KEI ครั้งนี้นับเป็นอีกกิจกรรมที่จะช่วยสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการชักจูงการลงทุนจากญี่ปุ่นในพื้นที่เขตคิวชูซึ่งอยู่ตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น และเป็นบันทึกความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรลำดับที่ 10 ที่บีโอไอได้ทำกับหน่วยงานรัฐและเอกชนของญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมร่วมกันสม่ำเสมอปีละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองคิตะคิวชู เมืองคุมาโมโตะ และเมืองโออิตะ โดยเน้นการชักจูงในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของแต่ละเมือง
"นักลงทุนของคิวชูเป็นนักลงทุนกลุ่มที่มีศักยภาพมากกลุ่มหนึ่งของญี่ปุ่น เพราะเป็นภูมิภาคที่โดดเด่นด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร เครื่องจักร อุปกรณ์ชิ้นส่วนโลหะ และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของบีโอไอที่ต้องการชักจูงการลงทุนให้เข้ามาในไทย และมั่นใจว่าหลังจากการลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้แล้ว จะมีความร่วมมือในการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้มีนักลงทุน เอสเอ็มอีของญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น" นายอุดม กล่าว
สำหรับเขตคิวชู ประเทศญี่ปุ่นนั้น เป็นฐานการผลิตด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมที่สำคัญ โดยมีโรงงานประกอบรถยนต์ของบริษัท โตโยต้า และนิสสัน ที่เมืองคิตะคิวชู โรงงานประกอบรถยนต์ของฮอนด้าที่เมืองโออิตะ และเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก บีโอไอจึงคาดหวังในด้านร่วมมือสำหรับเอสเอ็มอีของทั้งสองฝ่ายในการเป็นคู่ค้าด้านการผลิต ซึ่งในอนาคตมีแผนจะจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจระหว่างเอสเอ็มอีไทยและเอสเอ็มอีญี่ปุ่นต่อไป