กูรูด้านเศรษฐกิจแนะผู้ประกอบการปรับตัวรับเปิดเสรีอาเซียน-ปัจจัยเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 29, 2012 19:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) กล่าวถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน ในงานสัมมนาเรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2556 โอกาส ความท้าทาย และการปรับตัว"ว่า BOI มุ่งส่งเสริมการลงทุนเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียนใน 3 แนวทาง คือ 1.ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแปรรูปอาหารขั้นต้น,ผลิตภัณฑ์ยางจากยางแท่งไปสู่การผลิตยางยานพาหนะ, ผลิตภัณฑ์พลาสติกจากผลิตภัณฑ์ธรรมดาไปสู่การผลิตอุปกรณ์พลาสติกทางการแพทย์ เคมีและปิโตเลียมและสิ่งทอที่เน้นคุณสมบัติพิเศษ

2.ส่งเสริมการสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไทยที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันอยู่แล้ว เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ จะต้องมีการพัฒนาต่อยอดจากเดิมที่ไทยได้เปรียบอยู่แล้วให้ได้เปรียบมากขึ้น 3.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในเรื่องของการพัฒนาทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อชักจูงให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เกษตรแปรรูป, ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์รุ่นใหม่, ฮาร์ดดิสไดร์, เครื่องจักรและอุปกรณ์, Creative Industries หรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์, บริการมูลค่าเพิ่มสูง(ROH), พลังงานทดแทน, ไบโอเทค นาโนเทค ไบโอพลาสติก, และสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งพม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา โดยธุรกิจหลักจะเน้นในด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ธาตุ วัตถุดิบการเกษตร ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น ธุรกิจที่ไม่ได้รับ GSP จากประเทศพัฒนา และวัสดุก่อสร้าง ส่วนการส่งเสริมให้ไปลงทุนในประเทศสิงค์โปร มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน จะเน้นด้านการบริการและการท่องเที่ยว ด้านยานยนต์ ปิโตรเคมี เหมืองแร่ และวัสดุก่อสร้าง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2556 การขอการส่งเสริมการลงทุนยังคงดีอยู่ โดยเฉพาะจากต่างประเทศ เนื่องจากมีความมั่นใจมากขึ้น คนที่มีศักยภาพก็ยังคงแสวงหาช่องทางที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งประเทศในเอเชียมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง และเป็นแรงจูงใจอย่างมากที่จะให้ชาวต่างชาติมาลงทุน ทั้งนี้ในอาเซียนก็มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ในเรื่องของปัญหาและอุปสรรคก็ไม่มีมากนัก โดยเฉพาะประเทศไทยนั้นสถานการณ์หลายๆ ด้านดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ หรือการเมือง

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า เศรษฐกิจทางการเงินของโลกยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ คาดว่าปี 2555 ขยายตัวได้ 3.3% และปี 2556 ขยายตัวได้ 3.6% เนื่องจากความต้องการสินค้าและบริการชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะยุโรป ที่ส่งผลให้ประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและธุรกิจบริการตลอดจนการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงและไม่ผันผวนมากเท่าปีนี้ ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 85-115 ดอลลาร์/บาร์เรล ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่น ยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน(QE) อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลลาร์อ่อนค่าและมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก

สำหรับสถานการณ์พลังงานในปี 2556 ปัจจัยพื้นฐานยังคงอ่อนแอ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยุโรปยังคงอยู่ในภาวะถดถอย เศรษฐกิจจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ขยายตัวในอัตราที่ลดลง ประเทศเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังชะลอตัว ขณะเดียวกันความต้องการน้ำมันของโลกขยายตัวไม่มากนัก คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.1% จากปี 2555 ทั้งนี้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากทางภูมิศาสตร์และความขัดแย้งเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำรองของประเทศในกลุ่ม OECD ลดลงจาก 60.5 วันเป็น 59.6 วัน

นายมนูญ กล่าวว่า ทิศทางพลังงานไทยปี 2556 ราคาน้ำมันดิบน่าจะลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากไม่ผันผวนมากเท่าปีนี้ ราคาน้ำมันในประเทศมีแนวโน้มลดลงตามน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น โดยจะมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ทั้งนี้จะมีการนำเข้าก๊าซ LNG เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชมคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ได้แนะให้ปรับองค์กรเพื่อรองรับการแข่งขันและโอกาสทางธุรกิจที่จะเข้ามาในอนาคต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางโครงข่ายด้านพลังงานในอาเซียน พลิกบทบาทเป็นผู้นำด้านพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอาเซียน แสวงหาลู่ทางการลงทุนด้านพลังงานในประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้ประโยชน์จากข้อตกลง AEC ใช้ประโยชน์จากความเป็นผู้นำและผู้ชำนาญการด้านพลังงานให้บริการด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการด้านพลังงานให้กับประเทศในกลุ่ม กัมพูชา, ลาว, พม่า และเวียดนาม(CLMV) และพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการเรียนรู้และทำงานในระดับสากล

ขณะที่นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า อัตราการใช้ไฟฟ้าของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในช่วงกลางปีประมาณเดือน มิ.ย. สาขาทั่วไปมีการฟื้นตัวอยู่ประมาณ 70% แต่สาขายานยนต์ โดยเฉพาะเขตอุตสาหกรรมนวนครมีการเติบโตที่ผิดปกติ ซึ่งโตถึง 380 เมกะวัตต์ จากปกติที่เคยใช้แค่ 290 เมกะวัตต์ จึงส่งผลให้สาขายานยนต์เป็นสาขาที่มีการเจริญเติบโตมากที่สุด โดยต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งได้รับอานิสงน์จากนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรถคันแรก หรือแม้กระทั่งนโยบายรับจำนำข้าว ที่ทำให้ชาวนาชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น พอมีรายได้เข้ามาจึงส่งผลให้ชาวนาเข้ามาซื้อรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์มากขึ้น

ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าถ้านโยบายหมดอายุลงอุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นอย่างไรนั้น ตนมองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีการตอบสนองจากผู้ซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์คีโคคาร์ เชื่อว่าจะทำให้ฐานการผลิตในประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง และคาดว่าปี 2560 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า จะมียอดขายรถยนต์ถึง 3 ล้านคัน

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน พร้อมกันต้นปีหน้าในส่วนที่เหลืออีก 70 จังหวัดนั้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์เช่นกัน เนื่องจากแรงงานมีไม่เพียงพอ แนะผู้ประกอบการทุกรายต้องเตรียมพร้อมให้ดี อาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือยุบรวมกิจการเกิดขึ้น ทั้งนี้เรื่องของโลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่ง อาจส่งผลกระทบให้ประสิทธิภาพด้านการขนส่งลดลง เนื่องจากตลาดที่เข้ามารองรับสินค้ามีการชะลอตัวลง เช่น จีน

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2556 ยังคงมีความผันผวน และมีความท้าทายรออยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และกำลังส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตและการส่งออก เช่น ภาคการส่งออกของประเทศไทยที่ส่งไปยังยุโรปเดือน ก.ค.-ก.ย.55 ติดลบประมาณ 22% เป็นผลมาจากทางฝั่งยุโรปไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอย ขณะเดียวกันในภูมิภาคเองก็เกิดการชะลอตัวและติดลบเช่นเดียวกัน โดยยอดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน ส.ค.-ก.ย.55 ติดลบ 10%

ในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยถือว่ายังคงเติบโตได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ปีนี้เป็นปีที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีการขยายตัวดีขึ้น มีการขยายไปตามต่างจังหวัด อุตสาหกรรมยายนต์ดีมาก อุตสาหกรรมภาคโรงแรมดีต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน และชาวมุสลิม ภาคการค้าปลีกสามารถเติบโตได้ดี ซึ่งคาดว่าในปีนี้ภาคในประเทศจะเป็นตัวหักลบกลบหนี้จากภาคต่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมปีนี้โตได้ 5-6 %

สำหรับในปีหน้ายังคงมีแรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชนที่อยู่ในช่วงลงทุน รัฐบาลก็มีโครงการลงทุน ชาวต่างชาติก็เข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น ทั้งหมดจึงนำไปสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ ซึ่งต่อให้เศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นตัวดีก็ตาม ทำให้ต่อไปภูมิภาคนี้จะเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ยังคงมีความเสี่ยงจากการเมือง ซึ่งได้แนะนักลงทุนว่าอย่ามีความกังวลมากนัก เนื่องจากอาจมีความผันผวนเล็กน้อย แต่เศรษฐกิจจะคงเจริญเติบโตต่อได้ และความเสี่ยงที่ต้องมีการปรับตัว คือ ความเสี่ยงจาก AEC ที่จะมีผลกระทบแน่นอน ซึ่งนักลงทุนต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ