อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับระดับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. เนื่องจากได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลในฐานะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ บตท. มีบทบาทในการส่งเสริมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทยและมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับสิทธิพิเศษด้านฎหมายและการยกเว้นภาษีภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 แม้ว่าโครงสร้างคณะกรรมการของ บตท. จะมีความเหมาะสมในการรองรับพันธกิจ แต่อันดับเครดิตเฉพาะของ บตท. ก็มีข้อจำกัดจากปัจจัยหลายประการ อาทิ การมีประวัติผลงานตามพันธกิจในช่วงสั้น ๆ เนื่องจากภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจไม่เอื้ออำนวย คุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลง และต้นทุนการดำเนินงานที่สูงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ในระยะปานกลางว่าผู้บริหารชุดใหม่ของ บตท. จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานและซื้อพอร์ตสินเชื่อจำนวนมากจากสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรได้ตามแผน รวมทั้งสะท้อนถึงความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของ บตท. กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคต นอกจากนี้ ยังคาดว่า บตท. จะได้รับการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากรัฐบาลในการแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเอื้อให้มีอุปสงค์ในการออกตราสาร MBS เพิ่มมาก
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บตท. ก่อตั้งปี 2540 ภายใต้ พ.ร.ก. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว รัฐบาลสามารถค้ำประกันตราสารหนี้ที่ออกโดย บตท. ได้ไม่เกิน 4 เท่าของเงินกองทุน ต่อมาในเดือนมกราคม 2552 กระทรวงการคลังได้เพิ่มทุนให้แก่ บตท. อีก 100 ล้านบาท คณะกรรมการของ บตท. ประกอบด้วยตัวแทนที่หลากหลายจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมที่ดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยผู้มีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะสมอีก 4 ตำแหน่งและกรรมการผู้จัดการของ บตท.
เป้าหมายในการก่อตั้ง บตท. คือ การสร้างตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเสนอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราคงที่ระยะยาวแก่ผู้ซื้อบ้าน ซึ่งประมาณ 80% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในพอร์ตของ บตท.นั้นเป็นการซื้อมาจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตลาดแรกแล้วนำมารวมกันเพื่อสร้างตราสารทางการเงินที่มีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลังและขายตราสารดังกล่าวให้แก่นักลงทุน อย่างไรก็ตาม ภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยเป็นปัจจัยจำกัดศักยภาพการเติบโตของ บตท. เนื่องจากในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีสภาพคล่องที่เพียงพอและมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแรงเลือกที่จะเก็บพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยเอาไว้เอง นอกจากนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังสร้างผลตอบแทนที่สูงและมีน้ำหนักความเสี่ยงที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อเพื่อการบริโภคและอุปโภคและสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ
ในปี 2550 และ 2551 บตท. ได้ปรับปรุงขั้นตอนการซื้อสินเชื่อ รวมทั้งปรับโครงสร้างระบบการบริหารงานและพัฒนาระบบงานภายใน ในปลายปี 2550 บตท. ได้แต่งตั้งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ รวมทั้งแต่งตั้งผู้จัดการในตำแหน่งสำคัญ ๆ และตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา บตท. ได้พัฒนาระบบสารสนเทศ ระบบบริหารความเสี่ยง และระบบควบคุมภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาวด้วย นอกจากนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาการให้บริการสินเชื่อและการติดตามตรวจสอบคุณภาพสินเชื่อตามแผนการขยายธุรกิจด้วยเช่นกัน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 บตท. ได้แต่งตั้งรองกรรมการผู้จัดการให้ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่หลังจากกรรมการผู้จัดการคนก่อนหมดวาระ
ทริสเรทติ้งจึงคาดว่า บตท. จะยังคงดำเนินกิจการต่อไปอย่างราบรื่นเนื่องจากมีความต่อเนื่องของผู้บริหารที่มีบทบาทสำคัญ
ในปี 53-2554 บตท. ร่วมกับสถาบันการเงินพันธมิตร 3 แห่งในการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว ซึ่งได้สร้างยอดสินเชื่อคงค้างใหม่อีกประมาณ 152 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2553 และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 392 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2554 อย่างไรก็ตาม โครงการความร่วมมือระหว่าง บตท. และธนาคารอาคารสงเคราะห์ในการโอนขายสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ บตท. ไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ในปี 2553 จึงทำให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างของ บตท. ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 1,768 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 1,626 ล้านบาทในปี 2552 และ 1,543 ล้านบาทในปี 2553 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,732 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อจากโครงการความร่วมมือกับสถาบันการเงินพันธมิตร ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 สินเชื่อของ บตท. ลดลงเล็กน้อยโดยอยู่ที่ 1,632 ล้านบาท
การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ส่งผลทำให้ บตท. มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 329 ล้านบาทในปี 2550 หลังจากที่มีผลขาดทุนสุทธิ 99 ล้านบาทในปี 2549 และ 120 ล้านบาทในปี 2548 ภายหลังจากการตัดจำหน่ายหนี้สูญจำนวน 318 ล้านบาทในปี 2550 แล้ว อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของ บตท. ก็ลดลงจาก 39.79% ในปี 2549 มาอยู่ที่ระดับ 6.90% ในปี 2550 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 8.94% ในปี 2551 และเพิ่มขึ้นมากถึง 18.84% ในปี 2554 และ 17.86% ในเดือนมิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับ 3.56% ของธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง และระดับ 4.47% ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 7 แห่ง อย่างไรก็ตาม สัดส่วน 86% ของสินเชื่อที่ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ บตท. เป็นสินเชื่อที่จัดซื้อก่อนปี 2549 ในขณะที่ 14% เป็นสินเชื่อที่ซื้อมาในปี 2552-2554 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของสินเชื่อที่จัดหามาในช่วงปี 2552-2554 ซึ่งเป็นช่วงที่สินเชื่อของ บตท. เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในปี 2551 บตท. รายงานผลกำไรสุทธิ 22 ล้านบาทหลังจากขาดทุนติดต่อกันมา 3 ปี และรายงานผลกำไรสุทธิ 26 ล้านบาทในปี 2552 ในขณะที่ในปี 2553 บตท. มีกำไรสุทธิเพียง 0.3 ล้านบาทเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IAS39 และการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน ในปี 2554 กำไรสุทธิของ บตท. ฟื้นตัวขึ้นเป็น 4.1 ล้านบาทจากการขยายตัวของสินเชื่อและการมีค่าใช้จ่ายสำหรับรายการหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น สำหรับครึ่งแรกของปี 2555 บตท. มีกำไรสุทธิเพียง 1.2 ล้านบาทซึ่งเป็นผลมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ฐานเงินทุนหลักของ บตท. มาจากตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 คิดเป็น 77% ของเงินทุนรวม ในขณะที่ต้นทุนการเงินเฉลี่ยในครึ่งแรกของปี 2555 (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) อยู่ที่ 3.77% เมื่อเทียบกับระดับ 3.64% ในปี 2554 ซึ่งยังถือว่ามีต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการสินเชื่อบ้านในตลาดแรก ปัจจัยดังกล่าวทำให้ บตท. อยู่ในสถานะที่เสียเปรียบในการแข่งขัน
ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 บตท. ซื้อสินเชื่อบ้านจากธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) จำนวนประมาณ 880 ล้านบาท ส่งผลให้สินเชื่อของ บตท. เพิ่มขึ้นเป็น 2,575 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 บตท. วางแผนการที่จะหาแหล่งเงินทุนจากการออกตราสารทางการเงินซึ่งมีกระแสเงินสดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง (Mortgage-backed Securities -- MBS) เพื่อให้สอดคล้องกับมูลค่าและระยะเวลาของสินเชื่อที่ซื้อมาภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งการออกตราสาร MBS จะส่งผลบวกต่อ บตท. กล่าวคือจะช่วยให้ บตท. สามารถทำตามพันธกิจในการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จะช่วยเพิ่มประเภทของตราสารทางการเงินใหม่ ๆ เช่น MBS เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุน และจะช่วยลดความไม่สมดุลระหว่างโครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สินของ บตท. ในปัจจุบัน