"แนวทางการบริหารเศรษฐกิจที่ดีมีอยู่ 3 เรื่อง คือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ และเสถียรภาพด้านราคา แต่ระบบเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาทุกคนมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ค่อยพูดถึงการกระจายรายได้และเสถียรภาพของราคา เหมือนหมกมุ่นกันอยู่แต่เรื่องการเจริญเติบโต ทำให้การกระจายรายได้ทำได้ไม่ดี เสถียรภาพของราคาก็ไม่เกิด ดังนั้นรัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องนี้เป็นหลัก ซึ่งถ้าทั้งสองอย่างดีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะตามมา"นายกิตติรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเพื่อให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวนั้น จะต้องอาศัยหลักคิด 4 ล้อ ล้อที่ 1 คือ การขยายตัวของภาคการส่งออก ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยพยายามส่งออกให้ขยายตัวได้ร้อยละ 20 เพื่อทำให้อัตราการขยายตังทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3 - 4
ล้อที่ 2 คือ การใช้จ่ายของภาครัฐที่จะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่มีการรั่วไหล ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลแรกที่ทำงานกันแบบไม่มีเวลาพัก ถ้าพิจารณางบลงทุนปี 57 ได้ก็จะทำในทันทีเพื่อที่ว่าเมื่อถึงปีงบประมาณ 57 จะได้นำเสนอสภาและเมื่อสภาลงมติผ่านร่างงบประมาณก็จะได้เริ่มทำงานได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีงบประมาณหรือไตรมาสสุดท้ายของปีปฏิทิน ยกเว้นโครงการใดที่ยังที่ยังทุกลักทุเลก็จะได้ทำรายละเอียดจนให้สามารถเริ่มต้นทำโครงการได้ในปีงบประมาณ 58
ล้อที่ 3 การลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ภาคเอกชนต้องมีความเชื่อมั่นโดยเฉพาะความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลนี้พยายามจะไม่ทะเลากหรือขัดแย้งกับใคร หากมีปัญหาจะไม่ตอบโต้ ไม่สวนกลับ ถ้ามีข้อสงสัย ทักท้วงหรือต่อว่า ก็จะอธิบายจนเกิดความชัดเจนจะได้ไม่ต้องทะเลาะกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ต้องทำให้เอกชนเชื่อมั่นในอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปสู่วงล้อที่ 2 คือการทำให้เกิดเสถียรภาพของราคา
ล้อที่ 4 การอุปโภคบริโภคในประเทศ ที่ผ่านมายังมีปัญหาเพราะการกระจายรายได้ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรจนเกิดปัญหา"รวยกระจุก จนกระจาย" เงินบาทถูกใช้แตกต่างกัน และเงินบาทจะถูกใช้หลายรอบ
"เราพยายามมองว่ามีล้อใดใน 4 ล้อที่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ แล้วก็ขับเคลื่อนล้อนั้นๆ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ย่างเต็มประสิทธิภาพ"
นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดได้หารือกับผู้แทนการค้าจากสหภาพยุโรป หรือ EU ถึงแนวทางการเปิดการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทยกับ EU ว่า รัฐบาลได้ยืนยันว่าสนใจที่จะเปิดเสรีทางการค้าดังกล่าว แต่ต้องให้ฝ่ายไทยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขหลัก โดยเฉพาะสิทธิบัตรยาและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องไม่เป็นอุปสรรคในเข้าถึงยาของผู้ป่วยในประเทศไทย เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญต่อสิทธิบัตรปกติอยู่แล้ว
ดังนั้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการไทย คลายความกังวลดังกล่าวลงไปได้ว่ารัฐบาลจะเจรจาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ป่วย ประโยชน์ของผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหลัก จะไม่มีการเจรจาแลกผลประโยชน์ของผู้บริโภคเพื่อให้ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นๆเป็นอันขาด