ไทย-JICA เตรียมขยายความร่วมมือการพัฒนาบุคลากร ด้านวิศวะฯ-เทคโนโลยี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 30, 2012 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เสนอองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA) พิจารณาความร่วมมือที่เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี เนื่องจากประเทศไทยนับเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่น การร่วมกันพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆจึงมีความสำคัญในระยะยาว โดยที่ JICA เองเห็นด้วย และกล่าวถึงโครงการใหม่ของ JICA ซี่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาที่จะยกระดับบุคลากรด้านวิศวกรรมของไทย ทั้งในระดับปริญญาและอาชีวะศึกษา เพื่อสร้างทักษะในการทำงานให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและบริษัทเอกชนญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย

ในวันนี้ นายอากิฮิโกะ ทานากะ ประธาน JICA ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และความร่วมมือหุ้นส่วนไตรภาคี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ย.55

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องให้มีความร่วมมือด้านการดูแลผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสตามที่ประธาน JICA เสนอ เนื่องจากทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่นกำลังเผชิญการเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย โดยสองฝ่ายจะร่วมกันศึกษาและกำหนดรูปแบบความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

รวมทั้งได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนหลายโครงการ ทั้งนี้ JICA ได้ขอให้รัฐบาลไทยสนับสนุนบริษัทเอกชนญี่ปุ่น เข้าร่วมประมูลโครงการการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยจะพิจารณาอย่างเป็นธรรม โดยเน้นความสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นหลัก

สำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างไทย-เมียนมาร์ รวมทั้ง ความคืบหน้าในการร่วมกันพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจในบริเวณดังกล่าว โดยที่ไทย-เมียนมาร์จะเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ เข้ามาพัฒนาร่วมกัน เมื่อทั้งสองฝ่ายได้กำหนดเงื่อนไขพื้นฐานด้านต่างๆแล้ว ซึ่งในโอกาสนี้ JICA ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม

ทั้งนี้ สาขาที่ไทย-เมียนมาร์ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก 8 ด้าน ได้แก่ การสร้างถนน ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม โรงงานผลิตไฟฟ้า ระบบประปา การพัฒนาโทรคมนาคม ระบบรถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาชุมชน

ขณะที่ ความร่วมมือหุ้นส่วนไตรภาคี ไทย-ญี่ปุ่น มีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในประเทศที่สาม โดยเฉพาะ ประเทศในแอฟริกา รวมทั้ง เมียนมาร์ โดยในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การพัฒนาในเมียนมาร์ควรเน้นใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ การพัฒนาด้านศักยภาพ การสร้างความปรองดองแก่ชนกลุ่มน้อยในเมียนมาร์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามข้อเสนอของ JICA


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ