"การคำนวณจากธุรกิจส่งออกของสมาชิกที่มีอยู่ประมาณ 80% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทางเรือ โดยคาดว่าจะเห็นตัวเลขประมาณการส่งออกที่ชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งการส่งออกปีหน้ามีแนวโน้มไม่ดี เพราะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ประกอบกับประเทศคู่ค้าทางด้านวัตถุดิบที่รับจากไทย เช่น อินเดียและจีนมีคำสั่งซื้อลดลงเป็นห่วงโซ่ธุรกิจ ยิ่งส่งผลให้ไทยขายสินค้าไม่ดี ดังนั้นทุกธุรกิจจะต้องมีการปรับตัว พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุน" นายไพบูลย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตัวแปรที่จะช่วยให้ประมาณการตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้นหรือลดลงอีกส่วนหนึ่งได้แก่ การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ที่ดี ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินเยน ซึ่งตัวเลขที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขส่งออกไทยติดลบ และเสนอให้รัฐบาลเข้ามาจัดการประมวลผลตัวเลขการส่งออกให้ใกล้เคียงกับความจริง เพื่อเอกชนจะได้เตรียมความพร้อมในการรับมือ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในส่วนของตัวเลขส่งออกเดือนต.ค.2555 มีการขยายตัวถึง 15.6 % โดยพบว่ามี 15 อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัว ได้แก่ กระดาษ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับและอัญมณี เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี เหล็ก ยานยนต์ มันสำปะหลัง สัตว์เลี้ยง เครื่องครัว น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยา ไก่ พลาสติก และอาหารทะเล อุตสาหกรรมที่คงตัว คือ รองเท้า และมี 9 อุตสาหกรรมที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ผัก ผลไม้แช่แข็ง เครื่องจักร กุ้งแช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ผักและผลไม้กระป๋อง อุปกรณ์ก่อสร้าง ยางและข้าว