พร้อมกับคาดว่าจะการประมูล 4G คลื่น 1800 MHz ที่เป็นคลื่นที่ทรูมูฟ และดีพีซีจะหมดอายุสัญญาสัมปทาน ก.ย.56 โดย กสทช.คาดว่าจะเปิดประมูลได้ก่อนผู้ที่ถือสัมปทานเดิมหมดสัญญา
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า วันที่ 7 ธ.ค.นี้จะมีการประชุม กทค.เพื่อพิจารณาผลของคณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ซึ่งได้รับผลในเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จะส่งเอกสารผลตรวจสอบเบื้องต้นให้ สำนักงาน กสทช.พิจารณาด้วย หลังจากมีข้อสรุปว่าไม่พบพฤติกรรมฮั้วประมูล
ทั้งนี้ การที่ กสทช.เร่งเปิดการประมูลคลื่นความถี่ 3G เพราะอนาคตโอเปอเรเตอร์จะน้อยลง เพราะสัญญาสัมปทานจะหมดอายุตามลำดับ คือ ก.ย.56 ทรูมูฟ และ DPC จะหมดอายุสำหรับคลื่น 1800 MHz, ในปี 58 ขณะที่ ADVANC จะหมดอายุสัญญาสัมปทานคลื่น 900 MHz และ ในปี 61 DTAC จะหมดอายุสัญญาสัมปทาน คลื่น 1800 MHz ทั้งนี้ กสทช.เตรียมนำคลื่นความถี่ที่หมดอายุสัญญาสัมปทานไปเปิดประมูลการให้บริการ 4G ต่อไป
นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า การที่ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดี เป็นเรื่องที่ชัดเจนในตัวกฎหมายอยู่แล้วที่ให้อำนาจ กสทช.มีดุลยพินิจในการออกกฎเกณฑ์การประมูล 3G ซึ่งย่อมมีผู้ไม่พอใจกับกฎกติกา อย่างไรก็ดี กสทช.คงไม่ฟ้องกลับ และยังเดินหน้าออกใบอนุญาตต่อไป พร้อมคาดว่ายังมีอีกหลายเครือข่ายรวมทั้งนักวิชาการที่จะกลับมายื่นฟ้องในกรณีเดียวกันได้อีก
ทั้งนี้ บทเรียนการประมูล 3G ที่เห็นคือ เรื่องความไม่เข้าใจของประชาชน ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการซึ่งเป็นทีมเฉพาะกิจเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน ซึ่งต่อไป กสทช.จะจัดการประมูลในด้านอื่นๆ อีก เช่น 4G ที่ยากยิ่งกว่าการประมูล 3G โดยจะทำความเข้าใจทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการประมูล
ส่วนกรณีที่กรรมการ กสทช.ที่เป็นเสียงข้างน้อยนั้น ยอมรับว่าได้มีการทำความเข้าใจกับกรรมการ กสทช.เสียงข้างน้อยมาโดยตลอด ซึ่งตามหลักสากลแล้วควรจะเคารพมติเสียงข้างมาก กสทช.คาดว่าจะมีซุปเปอร์บอร์ด หรือคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการทำงานของ กสทช. ที่วุฒิสภาจะคัดเลือก โดยระหว่างนี้อยู่การพิจารณาคุณสมบัติจากวุฒิสภา ซึ่งคาดว่าจะคัดเลือกได้ในเดือนม.ค.56
"เราต้องเริ่มจากบ้าน กสทช.ก่อน หากใครให้ข่าวบิดเบือน เราจะมีซุปเปอร์บอร์ด เพราะขณะนี้เตือนกันแล้วก็ไม่ฟัง ไม่มีที่ไหนทำกันอย่างนี้" นายสุทธิพล กล่าว
นอกจากนี้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ITU) จะมาประเมินผลการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ซึ่งจะสะท้อนว่าการประมูลครั้งนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ด้านนายปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานผลิตภัณฑ์และบริการดิจิตอล บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนงานรองรับตั้งแต่วันนี้จนถึงในอนาคตหรือ 15 ปีข้างหน้าที่ความต้องการด้าน data จะโต 45 เท่าเป็นอย่างน้อย โดยบริษัทฯ จะร่วมมือกับผู้ผลิตมือถือในการนำเสนอมือถือที่สามารถรองรับระบบ 3จีได้ดี เพื่อให้กระจายไปยังผู้ใช้งานได้อย่างทั่วถึง
รวมทั้งจะร่วมมือกับผู้ผลิต content ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 200 รายที่เชื่อว่าจะมีการผลิตเนื้อหาใหม่ๆ ออกมารองรับความต้องการได้มากขึ้น และจะร่วมมือกับพันธมิตรร้านค้ามือถือที่ปัจจุบันมีกว่า 25,000 ร้านค้า โดยจะเพิ่มความรู้เพื่อจะได้แนะนำลูกค้าได้อย่างถูกต้อง และเชื่อว่าการแข่งขันในตลาดที่ปัจจุบันมีมากอยุ่แล้วก็จะมีมากยิ่งขึ้นหลังจากมีใบอนุญาต 3จี
ขณะที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) ต่างก็มองเห็นว่าจะสร้างโครงข่ายคุณภาพที่ดีที่สุดและพร้อมจะลงทุน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ เพราะเห็นว่า 3จีคือความก้าวหน้าของประเทศ
พ.อ.เศรษฐพงค์ ยังกล่าวในงานสัมมนา"อนาคตและโอกาสของธุรกิจไทยภายใต้ 3G" ด้วยว่า ไอซีทีมีความจำเป็นมากขึ้นไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมโทรคมนาคม รวมอุตสาหกรรมขนส่ง ธนาคาร ตลาดหุ้น โดยคาดในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการใช้เติบโต 10 เท่าตัว และอัตราความเร็วในการเชื่อมต่อสื่อสารต่อโครงข่ายได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโต 0.3% ที่เห็นชัดเจนในประเทศเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับบรอดแบรนด์ใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ในปี 53 อยู่ในอันดับที่ 59 ของความสามารถในการแข่งขันปีเทศด้านไอซีที (อันดับNRI) ตกอันดับจากปี 49 ที่อยู่อันดับ 31ขณะที่การเปิด AEC จะใช้ไอซีทีในการเชื่อมโยงอาเซียน
"อย่ามองข้อเล็กๆ มาเป็นเรื่องใหญ่ เราจะสูญเสียผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้า ต้องใช้เวลา"พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว