นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ใช้ในการจัดสรรคลื่นความถี่ และเตรียมออกใบอนญาต 3G แล้วเห็นว่า มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช.ในเรื่องต่างๆ ตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.เดียวกัน
แต่ที่เป็นปัญหาคือ มาตรา 27(4) กำหนดให้ กทค.มีอำนาจหน้าที่แทน กสทช.ในเรื่องการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แต่เมื่อมาพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 305(1) กลับบัญญัติให้ กทค.มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช.เฉพาะการกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งในที่นี้ไม่หมายรวมถึงการให้มีอำนาจหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ การที่ กทค.มีมติเมื่อวันที่ 18 ต.ค.55 เห็นชอบผลการประมูล 3G ที่มีการประมูลไปเมื่อวันที่ 16 ต.ค.55 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งหากศาลมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 40 ประกอบมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 และมาตรา 305(1) ก็จะเป็นผลให้การประมูลที่เกิดขึ้นมีผลเป็นโมฆะทันที
นายไพบูลย์ กล่าวว่า การยื่นเรื่องให้ตีความข้อกฎหมายถือว่าเป็นอำนาจโดยตรงของผู้ตรวจการแผ่นดิน และยอมรับว่าขณะนี้ กทค.ยังสามารถทบทวนการมีมติรับรองผลการประมูลดังกล่าวได้ และหาก กทค.นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ กสทช.ให้รับรองผลประมูล 3G เสียใหม่ก็จะทำให้การประมูลนั้นถูกต้องตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การประมูลที่เกิดขึ้นแล้วก็เดินหน้าต่อไปได้ แต่จะไม่มีผลให้คำร้องนี้ตกไป เพราะที่เสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาดำเนินการเป็นเรื่องของกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก็จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การยื่นเรื่องครั้งนี้เป็นคนละส่วนกับการตรวจสอบการประมูลว่าชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ซึ่งตนเองได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว
ด้านนางผาณิต กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมในวันเดียวกันนี้ ซึ่งจะมีการพิจารณากรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ฟ้องให้เพิกถอนการประมูล 3G ว่า ทางผู้ตรวจจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ สังคมให้ความสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ