นักวิชาการมองการบริโภค-ขึ้นค่าแรงผลักดันศก.ไทยปี 56 มีโอกาสโต 5.5-6.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 6, 2012 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป กล่าวในการบรรยายเรื่อง"การคาดการณ์การณ์เศรษฐกิจโลกและไทย 2556 : ประเมินปัจจัยเสี่ยงและโอกาส"ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 5.5-6.5% สูงกว่าที่สำนักวิจัยอื่นมองไว้ที่ 4.5-5.5% เนื่องจากมองว่าภาคการบริโภคจะเติบโตต่อเนื่องได้ถึง 4% โดยต้นปีหน้าจะมีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทจะเป็นตัวช่วยให้กระตุ้นการบริโภคให้เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนั้น การบริโภคมีขยายตัวเพิ่มขึ้นก็ช่วยให้กระตุ้นภาคการลงทุนขยายตัวตามไปด้วย ทำให้คาดว่าการลงทุนทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนจะขยายตัวราว 8-10% โดยการลงทุนภาครัฐจะเป็นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์และการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน(AEC)ในปี 58

ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 11-12% และการส่งออกจะขยายตัวประมาณ 10-11% หลังจากปีนี้การส่งออกเติบโตในอัตราต่ำจากผลพวงปัญหาน้ำท่วมในปี 54 ที่ทำให้ภาคการผลิตหยุดชะงักและฟื้นตัวขึ้นช้า แต่ยังได้อุตสาหกรรมรถยนต์เข้ามาช่วยกระตุ้นการส่งออกได้ดีขึ้น และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคที่มีอุปสงค์ตกค้างจากปัญหาน้ำท่วมก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจในยุโรปที่คาดว่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปีหน้า

สำหรับแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยในปี 56 นายอนุสรณ์ มองว่าจะแรงกดดันจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นมาที่ 3.8-4.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2-2.5% ขณะที่มีความเสี่ยงจะเกิดฟองสบู่ในกลุ่มตลาดหุ้นและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าวิตกกังวลมากนัก ด้านอัตราดอกเบี้ยในต้นปีหน้าคาดว่าจะปรับขึ้นจาก 2.5% เป็น 3% ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเคลื่อนไหวระหว่าง 28-30 บาท/ดอลลาร์

นายอนุสรณ์ ยังมองว่า ดุลบัญชีการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 56 จะกลับมาเกินดุลอีกครั้งหลังจากการส่งออกขยายตัวและฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้าที่ชะลอลง โดยคาดว่าดุลการค้าจะเกินดุลประมาณ 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1.02% ของ GDP

ส่วนของปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศนั้นยังคงเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ โดยขณะนี้การเมืองยังมีความไม่แน่นอนและส่งผลกระทบต่อตลาดเงินภายในประเทศ รวมทั้งการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งของกลุ่มชนชั้นนำและความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่อาจรุนแรงขึ้นเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง สั่นคลอนเสถียรภาพของระบบการเมือง จึงเป็นปัญหาใหญ่กว่าเสถียรภาพของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง

ทั้งนี้ จุดอ่อนไหวที่อาจนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง อาจเกิดจากปัญหาการทุจริตคอรัปชันที่อาจนำมาสู่การลุกฮือของมวลชน การพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อเข้ามาครอบครองระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารโดยใช้กำลังหรือตุลาภิวัฒน์ก็ตาม ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมองว่าจะไม่เป็นเหตุแห่งความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่หากเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

นายอนุสรณ์ คาดการณ์อีกว่า เศรษฐกิจโลกในปี 56 คาดว่าเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีนี้เล็กน้อยที่ 3.5-3.6% เนื่องจากปัจจัยในเศรษฐกิจยูโรโซนจะพลิกกลับมาเป็นบวกอยู่ที่ 0.2-0.5% หลังจากติดลบในปีที่แล้ว โดยกองทุน ESM (European Stability Mechanism) ได้เริ่มบรรเทาปัญหาวิกฤตการณ์หนี้สินยูโรโซนโดยเฉพาะในกรีซและเสปนตั้งแต่เดือนตุลคมเป็นต้นมา หลังศาลรัฐนูญเยอรมันวินิจฉัย ESM ไม่ขัดต่อกฎหมาย

ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐหลังจากมีเม็ดเงินจาก QE3 ที่ทยอยปล่อยเข้าในระบบการเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจะช่วยทำให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าหากไม่สามารถแก้ปัญหาหน้าผาทางการคลัง(Fiscal Cliff)ได้ ก็จะกลับมาถดถอยและติดลบอย่างน้อย (-0.5%)-(-1%) ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน แต่หากสามารถผ่านปัญหานี้ไป เศรษฐกิจสหรัฐฯก็น่าจะขยายตัวได้ราว 2.1-2.2% ในปี 56

ขณะที่ประเทศดาวรุ่งทางเศรษฐกิจและประเทศกำลังพัฒนาจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเล้กน้อยจาก 5.3% ในปี 55 เป็น 5.5-5.6% ในปี 56 โดยเศรษฐกิจของจีนเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น คาดว่าน่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 8% หลังจากปีที่แล้วขยายตัวประมาณ 7.7-7.8% ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงเล็กน้อยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 1.2%

และเศรษฐกิจในเอเชียโดยรวมน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 7% ในปี 56 อัตราการขยายตัวขิงภาคการส่งออดในเอเชียจะฟื้นเกือบทุกประเทศ มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ธนาคารกลางหลายประเทสในเอเชียยกเว้นญี่ปุ่นจะเริ่มทยอยปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ใดเงินไหลเข้าเอเชียมากขึ้นและอาจเกิดภาวะฟองสบู่ได้ในบางประเทศ

นายอนุสรณ์ กล่าวถึง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการเตรียมรับมือปัจจัยเสี่ยงและโอกาสต่างๆในปี 56 ว่า รัฐบาลต้องเร่งปรับโครงสร้างและปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้เกิดความสมดุลระหว่างภาคส่งออก ภาคบริการและเศรษฐกิจภายในประเทศ ภาคส่งออกจะมีการแข่งขันกันสูงจากการเปิดเสรีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภาคส่งออกจึงมีประสิทธิภาพสูงและปรับตัวพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้แต่ผลตอบแทนจากภาคส่งออกจะต่ำลง ขณะที่ภาคบริการมีการเปิดเสรีค่อนข้างล่าช้า มีอำนาจผูกขาดและกึ่งผูกขาดอยู่จึงให้ผลตอบแทนสูงแต่ประสิทธิภาพต่ำ

เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้งหมด ทั้งระบบขนส่งมวลชนระบบรางและระบบโลจิสติกส์ ระบบชลประทาน ระบบพลังงาน ระบบโทรคมนาคม เป็นต้น และ พัฒนาระบบการศึกษาและระบบบริการสาธารณสุขให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการได้อย่างเพียงพอ พร้อมทั้ง ผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดินและกระจายการถือครองที่ดิน และ ปัจจัยการผลิต

นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเป็นการปรับค่าแรงในอัตราก้าวหน้าที่จะก่อให้เกิดการกระจายรายได้และลดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แต่อาจส่งผลกระทบต่อกิจการขนาดเล็กที่ใช้แรงงานในสัดส่วนสูงในกระบวนการการผลิต มาตรการของรัฐบาลในการบรรเทาผลกระทบควรมุ่งเน้นไปที่การลดรายจ่ายและต้นทุนให้กับกิจการขนาดเล็กแต่ไม่ควรลดการจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม เพราะจะส่งผลต่อระบบสวัสดิการและความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว

รวมทั้งลดเงื่อนไขและปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะนำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรงหรือวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ ส่งเสริมและพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนโดยตรง ระยะยาวจากต่างประเทศและการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ วางยุทธศาสตร์และเป้าหมายเพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนและสามารถใช้โอกาสความรุ่งเรืองของเอเชียตะวันออก หรือ ศตวรรษแห่งเอเชีย เพื่อยกระดับฐานะของไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ