สศก.จัดสัมมนาใหญ่ สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ภาคเกษตรไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 7, 2012 13:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเตรียมจัดสัมมนาภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2555 และแนวโน้มปี 2556 “ทิศทางเกษตรไทยในยุค 4 Gs" ในวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2555 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ว่า จัดสัมมนาครั้งนี้จะมีการแถลงข่าวและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2555 และแนวโน้มปี 2556" รวมทั้งการอภิปราย เรื่อง “ทิศทางเกษตรไทยในยุค 4 Gs" (Global Economy, Growth of Economy, Green Economy, Grass Roots) และอภิปราย เรื่อง “สินค้าเกษตรก้าวสู่โลกยุคใหม่" ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการศึกษาและวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศได้เตรียมจัดขึ้น ซึ่งการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ภาคเกษตรถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ เนื่องจากภาคเกษตรนับเป็นแหล่งผลิตพืชอาหารและพลังงาน และมีความเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งการจ้างงาน การท่องเที่ยว และการค้าระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เช่น การฟื้นตัวของประเทศภายหลังสถานการณ์อุทกภัยปี 2554 การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประสบปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งปัญหาและความท้าทายดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ภาคเกษตรของไทยจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้บริบท 4 ประการ (4 Gs) ประกอบด้วย ประการแรก Global Economy หรือเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทยอย่างเหนียวแน่น

ประการที่สอง Growth of Economy การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ อันเป็นวิธีหนึ่งในการยกระดับรายได้ของประชาชนและเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ

ประการที่สาม Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นคาร์บอนต่ำ สนับสนุนประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

และประการสุดท้าย Grass Roots คือ เกษตรกรผู้เป็นรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมไทย เป็นหัวใจสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการที่เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงด้านอาชีพ ย่อมเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ