(เพิ่มเติม) รมว.พลังงานจะเสนอกพช.ก่อนสิ้นธ.ค.ทยอยขึ้นLPGครัวเรือนเป็น 24.82 บ./กก.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 7, 2012 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า เตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก่อนสิ้นเดือน ธ.ค.55 เพื่อพิจารณาให้ปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน โดยกำหนดราคาเพดานสูงสุดตามต้นทุนของก๊าซในอ่าวไทยที่ 24.82 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะเป็นการทยอยปรับขึ้นเดือนละ 50 สต./กิโลกรัม จาก 18.13 บาท คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

ส่วนจะเริ่มทยอยปรับเมื่อใดนั้นจะต้องขึ้นกับการพิจารณาความเหมาะสมจากคณะกรรมการที่กระทรวงพลังงานจัดตั้งขึ้นเพื่อเสนอความเห็นให้ กพช.พิจารณาเห็นชอบ พร้อมกับหาข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว โดยการชดเชยไม่เกิน 6 กิโลกรัม/เดือน ผู้ที่จะได้รับการสนับสนุนจะเป็นผู้มีรายได้น้อยประมาณ 4 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็นครัวเรือนที่มีการใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วย/เดือนจำนวน 3,673,610 ครัวเรือน และครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ 194,907 ครัวเรือน

ขณะที่กลุ่มหาบเร่ แผงลอย และร้านค้า รัฐบาลจะมีการชดเชยให้ โดยจะอุดหนุนไม่เกิน 150 กิโลกรัม/เดือน หรือถัง 15 กิโลกรัม 10 ถัง โดยผลการสำรวจพบว่ามีปริมาณการใช้เพียงเดือนละ 130 กิโลกรัมเท่านั้น

"ตามหลักการจะต้องปรับขึ้นในปี 56 ภายหลังจากผลการศึกษาของกระทรวงพลังงานที่ตั้งขึ้นมา เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้ชัดเจนมากขึ้น โดยจะใช้วิธีการออกบัตรหรือคูปองเพื่อมาชดเชยราคา ก็ให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม ส่วนปี 57 ก็จะต้องมีการปรับขึ้น แต่คงต้องรอผลสรุปจากมาตรการช่วยเหลือในปี 56 ก่อนว่าการปรับขึ้นราคามีความเหมาะสม หรือมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด จึงจะมาคำนวณการปรับราคาในปีต่อๆ ไป ทั้งนี้ คณะกรรมการจะต้องสรุปหลักเกณฑ์การช่วยเหลือทั้งหมดให้เสร็จภายในเดือนหน้านี้" รมว.พลังงาน กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีการปรับขึ้นราคา เนื่องจากราคา LPG ในตลาดโลกปัจจุบันได้ปรับขึ้นไปสูงถึง 550 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ราคาขายในประเทศขณะนี้ถูกคุมไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ส่วนการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ได้มีการหารือกับกลุ่มรถแท็กซี่และรถบรรทุก พบว่า ในส่วนของผู้ขับขี่รถแท็กซี่พอใจราคา NGV ที่น้อยกว่าราคาขายให้รถบรรทุกประมาณ 2 บาท/กิโลกรัม และหากบมจ.ปตท. (PTT) ยังไม่มีแผนที่จะขยายปั๊ม NGV ได้เพียงพอต่อความต้องการ และมีความสะดวกสบาย ก็จะยังไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน และ ปตท.ต้องแบกรับการขาดทุนต่อไป โดยปัจจุบัน ปตท.รับภาระอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท/ปี

ในด้านการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพหรือไบโอแก๊สนั้น รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะส่งเสริมในรูปการผลิตก๊าซจากหญ้าเนเปียร์หรือหญ้าเลี้ยงช้างเพื่อป้อนให้กับโรงฟฟ้าชุมชน โดยจะส่งเสริมผ่านโครงการ 1 ชุมชนกับ 1 โรงไฟฟ้าให้กับภาคเอกชนที่สนใจลงทุนร่วมกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีรายได้จากการปลูกหญ้าส่วนหนึ่ง และรายได้จากโรงไฟฟ้าอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ รัฐบาลจะให้การสนับสนุนส่วนต่างค่าไฟฟ้าในรูปแบบ feed in tariff ในอัตรา 4.50 บาท/หน่วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ดำเนินการแล้ว เพราะเป็นการช่วยเหลือภาคการเกษตร ซึ่งขณะนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการก่อนจะเสนอที่ประชุม กพช.ในสิ้นเดือนนี้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ