เมื่อสินค้าเกษตรมีมาตรฐาน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนลดลง จากการใช้สารเคมีลดลง และขายสินค้าได้ราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลทางอ้อม คือการลดใช้สารเคมี ส่งผลให้ลดอันตรายต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าที่ได้มาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ซึ่งจากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคจำนวน 40.82% มีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าที่มีมาตรฐานมาก ผู้บริโภคจำนวน 46.94% มีความมั่นใจปานกลาง และผู้บริโภคจำนวน 64.10% ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่ม ถ้าสินค้ามีคุณภาพดีและปลอดภัยต่อสุขภาพ
ทั้งนี้การดำเนินยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ปี 2553-2556 นั้นในช่วงที่ผ่านมาสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมาตรฐานด้านการเกษตรที่ประกาศใช้แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 203 เรื่อง แยกเป็นมาตรฐานสินค้า 79 เรื่องที่ครอบคลุมสินค้าเกษตรทั้งด้าน พืช สัตว์ และประมง มาตรฐานระบบ 91 เรื่อง และมาตรฐานทั่วไป 33 เรื่อง
สำหรับมาตรฐานสินค้าแต่ละเรี่องมีข้อกำหนดทั้งในเรื่องคุณภาพและขนาดที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการสินค้าได้โดยเฉพาะงานนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสินค้าสำคัญ เช่น ข้าว เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย ทุเรียน ลองกอง ไข่ไก่ เป็นต้น โดยในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินยุทธศาสตร์สนับสนุนผู้ผลิตเข้าสู่ระบบมาตรฐาน สินค้า และยุทธศาสตร์สร้างความมั่นใจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน