ผู้ว่าธปท.เผยนโยบายการเงินปีหน้ายังผ่อนคลาย จับตาสินเชื่อครัวเรือน-อสังหาฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 12, 2012 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ในปี 56 ธปท.ยังคงใช้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.5-3.0% ตามเดิม เนื่องจากรัฐบาลยังปรับโครงสร้างราคาพลังงานไม่แล้วเสร็จ จึงขอขยายระยะเวลาการใช้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกไปอีก 1 ปี ดังนั้น แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในปีหน้าจึงจะเป็นไปในทิศทางผ่อนคลาย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และสามารถสื่อสารตลาดการเงินได้
"แม้ปีหน้าความเสี่ยงด้านอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมีมากกว่าความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงจากปีนี้ แต่ ธปท.ยังคงติดตามปัจจัยเสี่ยงจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น ซึ่งธุรกิจจะสามารถปรับตัวหรือปรับขึ้นราคาสินขึ้นหรือไม่ต้องติดตาม รวมถึงแนวโน้มการอุปโภคบริโภคที่หากร้อนแรง จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อได้เช่นกัน ส่วนราคาพลังงานนั้นไม่น่าจะมีแรงกดดันด้านความต้องการ จนทำให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา"ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายการเงิน ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป คือ แนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ขยายตัวดี แม้ยังไม่พบสัญญาณการเก็งกำไรราคาของภาคที่อยู่อาศัย แต่ต้องติดตามการเร่งตัวของราคาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม และสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ภาคที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นในระยะหลัง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะแนวเส้นรถไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่ง ธปท.ติดตามและให้ความสำคัญมาต่อเนื่อง แม้ในภาพรวมอาจไม่รุนแรงมาก แต่เริ่มเห็นสัญญาณในบางภาค เช่น คอนโดมิเนียมบางจุด บางทำเล และการเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ในบางจังหวัด ซึ่งเป็นประเด็น 1 ใน 7 ด้านที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ความสำคัญมากต่อการพิจารณาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของสินเชื่อ ภาวะการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์

สำหรับการเก็งกำไรราคาในสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น หุ้น ล่าสุดยังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ โดยปัจจุบันอัตราส่วนราคาหลักทรัพย์ต่อผลตอบแทนคาดการณ์ (Forward P/E Ratio)อยู่ที่ 13-14 เท่า ยังสอดคล้องกับแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังแข็งแกร่ง

ขณะที่ผลพวงจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งมาตรการรถยนต์คันแรกและนโยบายจำนำสินค้าเกษตร อาจทำให้หนี้สาธารณะมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง และเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการคลัง โดยเฉพาะการขาดดุลงบประมาณในระยะต่อไป ดังนั้น รัฐบาลควรใช้ประโยชน์จากระดับหนี้สาธารณะที่ยังไม่สูงมาก โดยใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัดไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันระยะยาวของประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน จากที่ผ่านมาอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงจาก 27 มาที่ 30 แล้ว

“ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่ที่ชัดเจน เพียงแต่ว่าในภาวะที่สินเชื่อขยายตัวอยู่ในระดับสูง 10% กว่า และขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งมีการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ ดังนั้นหน้าที่ของธนาคารกลางที่ดีต้องระมัดระวัง ดูแลไม่ให้การเพิ่มและการขยายตัวร้อนแรงเกินไป เพียงแต่จุดนี้มองว่ายังอยู่ในจุดที่ต้องติดตามดูแล"นายทรงธรรม กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ