BOI คาดทุนไทยพุ่งเป้าลงทุนพม่า-อินโดฯ-เวียดนาม เอกชนเตือนระวังเรื่องกม.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 12, 2012 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มองแนวโน้มนักธุรกิจไทยออกไปลงทุนในอาเซียนมากขึ้น โดยให้ความสนใจพิเศษกับประเทศพม่า เวียดนาม และ อินโดนีเซีย ที่เป็นตลาดใหญ่ มีศักยภาพเติบโต พร้อมทั้งเป็นแหล่งทรัพยากรและวัตถุดิบให้กับธุรกิจได้ดี ดังเช่นบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย และ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้ทำสำเร็จแล้ว ขณะที่นักธุรกิจไทยเตือนระวังเรื่องความชัดเจนกฎหมายการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสถานการณ์การเมือง

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ชัย เลขาธิการ BOI กล่าวในการสัมมนา"รุกหรือรับ โอกาสสำหรับธุรกิจไทยในอาเซียน"ว่า รัฐบาลได้มีการสนับสนุนให้เอกชนขยายการลงทุนต่างประเทศเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)โดยจะสนับสนุนในสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยชำนาญเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันเห็นได้ว่านักลงทุนไทยกระจายออกไปลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้น จากเดิมเน้นไปที่สิงคโปร์และมาเลเซีย ทำให้ตัวเลขการไปลงทุนต่างประเทศเติบโตก้าวกระโดดจากปี 54

สาเหตุที่นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเนื่องจากค่าเงินบาทเข็งค่า โดยบางรายเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติม สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนไทยมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะแข่งขันกับต่างชาติได้ ซึ่งธุรกิจหลักๆที่เอกชนไทยออกไปลงทุน ได้แก่ ถ่านหิน ปิโตรเลียม โดยกิจการเหมืองแร่ มีสัดส่วนลงทุน 27% และลำดับต่อมาคือ ธุรกิจธนาคารมีสัดส่วน 14% และธุรกิจเกษตรกับอาหารแปรรูป

"เหตุผลการลงทุนในต่างประเทศเพื่อให้ได้เจาะตลาดต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ที่เป็นตลาดใหญ่ ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น มีกำลังซื้อมากขึ้น แสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้มีความเข้มแข็ง แสวงหาเทคโนโลยี" นายอุดม กล่าว

อนึ่ง ธนาคารโลกทำการสำรวจพบว่า กลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นประเทศที่น่าสนใจเข้าไปลงทุน อันดับแรกได้แก่ ประเทศอินโดนิเซีย 2.เวียดนาม และ 3.ประเทศพม่า ซึ่งมีความน่าสนใจเรื่องของแรงงานและทรัพยากรเช่นกัน แต่มองว่าพม่ายังไม่พร้อมมากนักในการที่จะเข้าไปลงทุน

สำหรับ BOI จัดตั้งศูนย์ข้อมูลการลงทุนไทยในต่างประเทศขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเชิงลึกและเป็นปัจจุบัน รวมถึงโอกาสและช่องทางการลงทุนในประเทศเป้าหมาย และการการให้บริการคำปรึกษาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจไทยที่สนใจขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยศูนย์ข้อมูลจะติดตามและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ทั้งด้าน เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน กฎหมาย สังคม และด้านอื่นๆ ในกลุ่มประเทศดังกล่าว

ขณะที่นายบรรณ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวางแผนกลาง บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย(SCC) กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนในประเทศอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โดยสิ่งที่ทางบริษัทได้ให้ความสำคัญคือ การเตรียมคนให้มีความพร้อมและเข้าใจประเทศนั้นๆ และต้องมีการเตรียมผู้เชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ ในขณะเดียวกันการเข้าไปนั้นต้องมั่นใจว่าได้ประโยชน์อย่างไร และต้องมีการวางแผนล่วงหน้า

โดยแนะนำผู้ประกอบการว่า การลงทุนในกลุ่มอาเซียน ต้องเข้าใจกันเป็นอย่างดี มีการทดลองตลาดก่อน โดยการนำสินค้าลองนำไปขายดูก่อน จะได้รู้ว่าตลาดเป็นอย่างไร จะทำให้เมื่อเข้าไปลงทุนจริงๆแล้วจะไม่มีปัญหา เพราะเราได้เข้าใจตลาดเป็นอย่างดีแล้ว

ด้านนายทักษ์ ศรีรัตโนภาส ผู้อำนวยการด้านโครงการร่วมทุนและการค้าระหว่างประเทศ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด มองว่า ธุรกิจ SME เป็นตัวผลักดันให้ประเทศสามารถมี High income ได้ แต่ต้องมีความสามารถที่เพียงพอจึงจะออกไปสู้กับต่างประเทศได้ และการที่จะออกไปสู้กับต่างประเทศหรือทำธุรกิจในประเทศก็ตามต้องมีจรรยาบรรณการลงทุน และจะต้องมีการพัฒนาคนเพื่อที่จะให้ขึ้นมาช่วยบริหารบริษัทในประเทศนั้นๆได้ในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาบริษัท

การไปลงทุนต่างประเทศจะต้องคำนึงถึงนโยบาย และวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ต้องทำให้ได้รับการยอมรับจากประชาชนของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน แต่ปัจจุบันการไปลงทุนยังต้องศึกษาเรื่องของกฎหมายให้ดี เพราะกฎหมายในหลายประเทศยังไม่มีความชัดเจน เช่น เรื่องของ กรรมสิทธิ์ที่ดิน และควรจะมีการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมต่างๆที่แตกต่างกัน และควรระวังเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศที่ปัจจุบันยังไม่มีความแน่นอนมากนัก

ส่วนนายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เบอร์ลี่ยุคเกอร์ (BJC) กล่าวว่า การลงทุนในประเทศอาเซียนต้องระวังเรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายและความรู้ความเข้าใจของที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือทนายซึ่งยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ หากยังขาดความเชี่ยวชาญก็ควรหาผู้ร่วมทุนในประเทศนั้นๆเพื่อให้รู้ถึงพฤติกรรมการบริโภค วัฒนธรรมต่างๆ หรือการลองนำสินค้าเข้าไปขายก่อน

ขณะเดียวกันควรที่จะมีการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในประเทศนั้นๆก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนาการตลาดในประเทศนั้นๆ และมองว่าหากได้มีการสร้างแบรนด์ให้รู้จักก่อนจะทำให้การที่เข้าไปเปิดบริษัทก็จะทำได้ง่ายมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ