ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: เงินดอลล์ร่วงหลังเฟดออก QE4,ตรึงดอกเบี้ยต่ำ

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 13, 2012 07:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับยูโร ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 ธ.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบใหม่ และให้คำมั่นสัญญาว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเอาไว้จนกว่าอัตราว่างงานจะลดลงต่ำกว่าระดับ 6.5% ซึ่งมาตรการดังกล่าวของเฟดได้สร้างแรงกดดันให้กับมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.47% เมื่อเทียบกับยูโรที่ 1.3065 ยูโร จากระดับของวันอังคารที่ 1.3004 ยูโร และดิ่งลง 0.16% เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ที่ 1.6140 ปอนด์ จากระดับ 1.6114 ปอนด์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.60% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 0.9264 ฟรังค์ จากระดับ 0.9320 ฟรังค์ แต่ดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.84% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 83.200 เยน จากระดับ 82.510 เยน

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดีดตัวขึ้น 0.19% แตะที่ 1.0548 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0528 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 0.46% แตะที่ 0.8431 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8392 ดอลลาร์สหรัฐ

สกุลเงินดอลาร์สหรัฐร่วงลงหลังจากเฟดประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 4 (QE4) โดยระบุว่าจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรอบใหม่ในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และจะเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ เฟดยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ที่ระดับ 0 - 0.25% พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษที่ 0-0.25% ไปจนกว่าอัตราว่างงานจะลดลงต่ำกว่า 6.5% โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและการสร้างงาน

การที่นักลงทุนนักลงทุนจับตาดูการประชุมเฟดในวันนี้อย่างใกล้ชิดก้เพราะว่า มาตรการ Operation Twist จะหมดอายุลงในสิ้นเดือนนี้ เพื่อรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจเมื่อมาตรการ Operation Twist หมดอายุลง โดยมาตรการ Operation Twist คือการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปในวงเงิน 2.67 แสนล้านดอลลาร์ และขายพันธบัตรระยะสั้นประเภทที่มีอายุไม่เกิน 3 ปีในวงเงินเท่ากัน โดยมีเป้าหมายที่จะฉุดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ปรับตัวลดลง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานให้ขยายตัวขึ้น และยังช่วยให้แรงกดดันด้านการเงินผ่อนคลายลงด้วย

ส่วนค่าเงินยูโรร่วงลงหลังจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือ ยูโรสแตท รายงานว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค.ใน 17 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรปรับตัวลดลง 1.4% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งสวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมใน 27 ประเทศสมาชิกอียู ลดลง 1.0% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ