แถลงการณ์ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐเดือนธ.ค.

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 13, 2012 10:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เสร็จสิ้นลงเมื่อคืนนี้ว่า ข้อมูลที่ได้รับนับตั้งแต่ที่คณะกรรมการ FOMC ประชุมกันในเดือนต.ค.บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงขยายตัวในอัตราปานกลางในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หากไม่พิจารณาผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ แม้ว่าอัตราว่างงานได้ลดลงบ้างนับแต่ช่วงฤดูร้อน แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ทางด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้น และภาคที่อยู่อาศัยได้ส่งสัญญาณเพิ่มเติมถึงการปรับตัวดีขึ้น แต่การขยายตัวในการลงทุนด้านสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจชะลอลง ส่วนเงินเฟ้อได้ปรับตัวต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวของคณะกรรมการ หากไม่พิจารณาถึงความแปรปรวนชั่วคราว ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนถึงความผันผวนของราคาพลังงาน ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวยังคงทรงตัว

คณะกรรมการต้องการที่จะสนับสนุนการจ้างงานให้ขยายตัวในระดับสูงสุดและสร้างเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเฟด คณะกรรมการกังวลว่า หากไม่มีการผ่อนคลายนโยบายที่พอเพียง การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะไม่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้ตลาดแรงงานฟื้นตัวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ความกดดันในตลาดการเงินทั่วโลกยังคงก่อความเสี่ยงช่วงขาลงอย่างมากต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ คณะกรรมการคาดว่าเงินเฟ้อในระยะกลางมีแนวโน้มจะอยู่ที่หรือต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2%

ทั้งนี้ เพื่อที่จะหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งขึ้นและเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในอัตราที่สอดคล้องกับเป้าหมายของเฟดเมื่อเวลาผ่านไปนั้น คณะกรรมการจะยังคงเดินหน้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน วงเงิน 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน นอกจากนี้ คณะกรรมการยังจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีอายุการไถ่ถอนนานขึ้น หลังจากแผนการที่จะขยายกำหนดไถ่ถอนเฉลี่ยของการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้สิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี ซึ่งในเบื้องต้นมีวงเงิน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน คณะกรรมการยังคงดำเนินนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันต่อไปในการนำเงินต้นที่ได้รับจากการถือครองตราสารหนี้ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและ MBS ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ไปลงทุนใหม่ใน MBS ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และจะเข้าซื้อพันธบัตรชุดใหม่เมื่อพันธบัตรเดิมครบกำหนดไถ่ถอนในการประมูลในเดือนมกราคม การดำเนินการเหล่านี้ น่าจะยังคงสร้างแรงกดดันช่วงขาลงต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาว ช่วยหนุนตลาดจำนอง และช่วยทำให้ภาวะทางการเงินในวงกว้างมีความผ่อนคลายมากขึ้น

คณะกรรมการจะจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่กำลังจะมีการเปิดเผยต่อไป และจะประเมินความคืบหน้าทางการเงินในช่วงหลายเดือนข้างหน้าอย่างใกล้ชิด หากแนวโน้มของตลาดแรงงานยังไม่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก คณะกรรมการก็จะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและ MBS ของหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน รวมทั้งใช้เครื่องมือด้านนโยบายอื่นๆตามความเหมาะสมจนกว่าการปรับตัวดีขึ้นดังกล่าวจะเป็นไปตามบริบทของความมีเสถียรภาพด้านราคา ส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับขนาด อัตราความเร็วและองค์ประกอบของการซื้อสินทรัพย์นั้น คณะกรรมการจะพิจารณาอย่างเหมาะสมอยู่เสมอเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่มีความเป็นไปได้และต้นทุนของการซื้อดังกล่าว

ในส่วนของการสนับสนุนให้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องสู่การจ้างงานสูงสุดและความมีเสถียรภาพด้านราคานั้น คณะกรรมการคาดว่าท่าทีที่ผ่อนคลายอย่างมากด้านนโยบายการเงินจะยังคงมีความเหมาะสมต่อไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งหลังจากแผนการซื้อสินทรัพย์สิ้นสุดลงและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง โดยคณะกรรมการได้ตัดสินใจที่จะคงช่วงเป้าหมายสำหรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (federal funds rate) ไว้ที่ 0-0.25% และคาดว่าช่วงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับต่ำเป็นพิเศษนี้จะมีความเหมาะสมต่อไป ตราบเท่าที่อัตราว่างงานยังคงสูงกว่า 6.5%, เงินเฟ้อในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจะสูงกว่าเป้าหมายระยะยาวที่ 2% ที่คณกรรมการกำหนดไว้ไม่เกิน 0.5% และการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวยังคงอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ คณะกรรมการมองว่าการดำเนินการเหล่านี้มีความสอดคล้องกับแนวทางก่อนหน้านี้ และในการตัดสินใจว่าจะยังคงมีท่าทีที่ผ่อนคลายอย่างมากด้านนโยบายการเงินเป็นระยะเวลานานเพียงใดนั้น คณะกรรมการก็จะพิจารณาข้อมูลอื่นๆด้วย ซึ่งรวมถึงมาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะตลาดแรงงาน, ปัจจัยชี้วัดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ และการประเมินความคืบหน้าทางการเงิน เมื่อคณะกรรมการจะตัดสินใจเริ่มยกเลิกการผ่อนคลายด้านนโยบาย ก็จะใช้วิธีที่มีความสมดุลที่สอดล้องกับเป้าหมายระยะยาวของการจ้างงานสูงสุดและเงินเฟ้อที่ 2%

สำหรับผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ได้แก่ เบน เอส. เบอร์นันเก้ ประธานเฟด, วิลเลียม ซี. ดัดลีย์ รองประธานเฟด, เอลิซาเบธ เอ. ดุค, เดนนิส พี. ล็อคฮาร์ท, ซานดรา เพียนัลโต, เจอโรม เอช. เพาเวล, ซาราห์ บลูม ราสคิน, เจเรมี ซี. สเตน, แดเนียล เค. ทารุลโล, จอห์น ซี. วิลเลียมส์ และเจเน็ต แอล. เยลเลน

ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายดังกล่าว คือ เจฟฟรีย์ เอ็ม. แล็คเกอร์ ซึ่งคัดค้านแผนการซื้อสินทรัพย์และลักษณะของภาวะที่มีความเหมาะสมในการกำหนดช่วงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ