โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.55) กลุ่มประเทศ CLMV เป็นหนึ่งในไม่กี่ตลาดที่ยังโชว์ตัวเลขการส่งออกเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 11 ท่ามกลางการหดตัวของตลาดอื่นๆ ทั้งอาเซียนเดิม ญี่ปุ่น และยุโรป CLMV จึงกลายเป็นตลาดที่พยุงการส่งออกในภาพรวมไม่ให้หดตัวไปมาก โดยประเมินว่าการส่งออกไป CLMV ในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 10.9 ขณะที่คาดว่าการส่งออกในภาพรวมทั้งปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 3.0
ทั้งนี้ จากการขยายตัวของการส่งออกโดยรวมในปีนี้ที่ร้อยละ 3.0 เป็นแรงขับเคลื่อนจากตลาด CLMV ถึงร้อยละ 0.78 สูงกว่าแรงหนุนรวมจากกลุ่มอาเซียนเดิมบวกกับจีน และญี่ปุ่นที่ร้อยละ 0.62 รวมกัน ขณะที่การส่งออกของไทยในภาพรวมต้องเผชิญกับแรงฉุดอย่างแรงจากตลาดสหรัฐฯ และยุโรปร้อยละ -0.81" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี คาดว่าแนวโน้มในระยะปานกลาง ตลาด CLMV จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายปัจจัยหนุน ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงจากการเป็นแหล่งทรัพยากรที่ดึงดูดการลงทุนต่างชาติ การยอมรับในเรื่องมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าไทย รวมทั้งแผนการพัฒนาเส้นทางขนส่งร่วมกันเพื่อรองรับ AEC อาทิ เส้นทาง R1-R3 และเป้าหมายการลดภาษีนำเข้าของ CLMV เหลือร้อยละ 0 ในปี 2558
โดยคาดว่าตลาด CLMV จะขยายตัวแข็งแกร่งเฉลี่ยร้อยละ 11.8 ในช่วงปี 2556-2558 สวนทางกับตลาดยุโรปที่มีบทบาทลดลง ทำให้สัดส่วนการส่งออกไป CLMV เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.7 ในปี 2555 ไต่สู่ระดับร้อยละ 9.0 ในปี 2558 แซงหน้ายุโรปที่คาดว่าจะลดบทบาทอยู่ที่ร้อยละ 8.8 และผลักดันให้ตลาด CLMV ขึ้นแท่นเป็นตลาดศักยภาพสูงของไทย