(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.มองสหรัฐใช้ QE4 ส่งผลสภาพคล่องไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 13, 2012 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มองว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 4 หรือ QE4 จะทำให้มีสภาพคล่องในระบบไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นในระยะต่อจากนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีเงินไหลเข้ามาในประเทศไทยด้วย ธปท.ก็ยืนยันว่าจะไม่แทรกแซงค่าเงินบาทโดยไม่จำเป็น เพราะมีต้นทุนค่อนข้างสูง

การที่เฟดออกมาตรการ QE4 โดยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรอบใหม่ในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน จากเดิมที่จำกัดวงเงินเพื่อ Morgage back Secuerity เพื่อช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อตั้งใจรักษาระดับดอกเบี้ยของตลาดเงินโดยรวม กระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาการจ้างงาน ซึ่ง QE4 จะทำให้มีโอกาสอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบมากขึ้น ทำให้ปริมาณเงินในระบบการเงินโลกมากขึ้น และมีโอกาสเคลื่อนย้ายเงินเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้นด้วย

"ขอศึกษารายละเอียดมากกว่านี้ จึงจะให้ข้อมูลได้...การมี QE4 ทำให้สภาพคล่องมากขึ้น แต่ปัจจัยอื่นไม่เปลี่ยนไป ซึ่งภูมิภาคเอเซียเมื่อเทียบ 2 ปีก่อนไม่ได้เติบโตสูงและลักษณะของโครงการครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเงินก้อนใหญ่แต่เป็นรายเดือน"ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายประสาร มองว่า เฟดมีภารกิจที่ผิดแบบจากหน้าที่ปกติของธนาคารกลางประเทศอื่น จากที่เคยดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงิน แต่กลับต้องมีภารกิจดูแลแก้ปัญหาการจ้างงาน ซึ่งถือว่ามากเกินไป เพราะลักษณะปัญหาดังกล่าวควรจะแก้ด้วยนโยบายการคลัง และภายใต้เครื่องมือทางการเงินที่มีจำกัด ทำให้เฟดต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบค่อนข้างมาก

"การออก QE4 ถือเป็นประเด็นที่ ธปท.จะต้องจับตาและติดตามเช่นเดียวกับปัจจัยภายนอกอื่นๆ ซึ่งในสัปดาห์นี้จะมีการเลือกตั้งของญี่ปุ่นเช่นกัน"นายประสาร กล่าว

ทั้งนี้ ธปท.ยืนยันว่าจะไม่มีการฝืนตลาดในการดูแลค่าเงินหากไม่มีเหตุผลจำเป็น โดยจะยึดแนวทางดูแลตลาดเงินให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด และจะไม่ฝืนตลาด เพราะจะทำให้มีต้นทุนดำเนินการที่สูงมาก เห็นได้จากช่วง 2 ปีก่อนที่ทุกประเทศในภูมิภาคประสบปัญหาค่าเงินแข็งค่า ดังนั้น ธปท.จึงต้องดำเนินการเพื่อลดแรงกระแทก เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้

"การแทรกแซงตลาดมีต้นทุนมากตามมา เราพยายามที่จะหลีกเลี่ยงถ้าทำได้ จากผลการศึกษาของเรา การมีเงินไหลเข้า ไม่ใช่แค่มองที่ส่วนต่างดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ ที่เขาเอาเงินเข้าไป มีศักยภาพการเติบโตแค่ไหน หากเยอะก็เอาเงินเข้าไป หากไม่เยอะก็ต้องดู" ผู้ว่า ธปท. กล่าว

ผู้ว่า ธปท.ยังได้ปาฐกถาเรื่อง"การเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจและประชาชนในการลงทุน ปี 2013"ในงาน Thailand Smart Money ว่า บรรยากาศการลงทุนในปีหน้ายังจะดีต่อเนื่องจากปีนี้ โดยความอึมครึมของเศรษฐกิจโลกดูเหมือนจะน้อยลงกว่าช่วงก่อน แม้ไม่ได้กลับมาขยายตัวได้เป็นปกติ แต่ถือว่าผ่านจุดเลวร้ายไปแล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจเอเชียหลายประเทศเริ่มกลับมาส่งออกและขยายตัวได้

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยติดตามในระยะข้างหน้า ทั้งผลการต่ออายุมาตรการทางการคลังของสหรัฐฯ (fiscal cliff) หรือการหดตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อาจเนิ่นนานกว่าที่คาด และในยุโรป แม้จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนขึ้น แต่ยังต้องการแผนงานเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุให้ตลาดการเงินยังคงมีความผันผวนอยู่ได้บ้างในระยะต่อไป

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คาดว่าจะเติบโตได้ในอัตรา 4.6% โดยอาศัยแรงขับเคลื่อนจากการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ อีกทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐภายใต้มาตรการกระตุ้นต่าง ๆ เสถียรภาพโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ยังไม่มีสัญญาณการเกิดฟองสบู่ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีน้อย แต่อาจยังต้องระมัดระวังและจับตามองการปรับตัวของภาคธุรกิจจากมาตรการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทในระลอกสอง

แต่ในระยะต่อไป การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะช่วยแก้ปัญหาคอขวดของภาคการผลิต เช่น ด้านการขนส่ง จะช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจลงได้ นอกจากนี้ การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสอันดี ที่ภาคธุรกิจจะลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับตลาดที่เปิดกว้าง และการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ