TISPA ค้านกสทช.เก็บค่าธรรมเนียมโทรคมฯอีก 2% ดันต้นทุนสูง-ปชช.จ่ายแพง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 13, 2012 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไทย (TISPA) เปิดแถลงกรณีสมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไทย (TISPA) คัดค้านคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ประกาศเก็บค่าธรรมเนียมโทรคมนาคมเพิ่มอีก 2% เพราะเห็นว่า กสทช.ดำเนินการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

เนื่องจากการที่ กสทช.ประกาศเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม(USO) 3.75% ไปแล้ว และกำลังจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมโทรคมนาคมเพิ่มอีก 2% โดยจะคิดจากรายได้ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้บริโภคจะเป็นผู้รับภาระ

"สมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไทยจึงจำเป็นต้องประกาศจุดยืนคัดค้านการกระทำของ กสทช. เนื่องจากมีความเห็นว่าเป็นการกระทำที่น่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ กสทช. เป็นหน่วยงานกำกับกิจการเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ ประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ และส่งเสริมการเข็งขันเสรีและเป็นธรรม

นอกจากเป้าหมายข้างต้นแล้วกฎหมายยังวางกรอบให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมนั้น คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลของ กสทช. โดยหากจัดเก็บไม่พอเพียงก็สามารถขอสนับสนุนงบประมานจากรัฐได้ สะท้อนว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ กสทช.จัดเก็บเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน"นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไทย กล่าว

นายกสมาคมฯ ระบุว่า จะเห็นได้ว่าจากการจัดเก็บแบบเดิม ในปี 54 กสทช. มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายถึง 1.5 พันล้านบาท และในปี 55 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ต.ค.55 กสทช.มีรายได้ถึง 2.2 หมื่นล้านบาท และหากนำเอารายได้ 2% ของบริการโทรศัพท์ 3G บนคลื่นใหม่มาคิดรวมด้วย ก็จะทำให้ กสทช.มีรายได้สูงกว่ารายจ่ายอย่างมาก จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่ม

และเป็นที่น่าสังเกตว่า กสทช.จัดทำแผนการลงทุน 5 ปี 2 หมื่นล้านบาท หรือลงทุนปีละ 4 พันล้านบาท ซึ่งสูงเท่ากับงบประมาณของบางกระทรวง และกำหนดแผนดังกล่าวทำให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม USO ใหม่เมื่อช่วงเดือน พ.ค.55 ที่อัตรา 3.75% ของรายได้ เพื่อให้เพียงพอต่อเงินลงทุนที่ตั้งไว้ มองว่าน่าจะขัดกับกรอบเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้ กสทช.เป็นหน่วยงานกำกับไม่ใช่เป็นหน่วยงานลงทุน หรือจัดหารายได้เข้ารัฐ

นายอนันต์ กล่าวว่า หาก กสทช.จัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอีกจะส่งผลเสียระยาว เพราะปัจจุบันเอกชนได้จ่ายค่าธรรมเนียม 3 รูปแบบ คือ 1. ขนาดเล็กจ่าย 20,000 บาท/ปี 2.ขนาดกลาง จ่าย 25,000-250,000 บาท/ปี และ 3.ขนาดใหญ่ จ่าย 2 % ของรายได้จากการประกอบกิจการ โดยเรียกเก็บแบบนี้เพื่อสะท้อน ขนาดและความสัมพันธ์ของแต่ละประเภทใบอนุญาต เพราะกฎหมายกำหนดให้มีการส่งเสริมการเข่งขัน และบังคับให้ผู้ประกอบการ แบบที่ 3 หรือขนาดใหญ่ ต้องขายส่งให้รายเล็ก

ดังนั้น หากเก็บเพิ่มเติมจะซ้ำซ้อนจนทำให้รายเล็กอยู่ไม่ได้เพราะต้นทุนสูงขึ้นไปอีก เอกชนรายเล็กๆ จะค่อยๆหายไป รายใหญ่บางรายที่ไม่สามารถสู้ได้ก็จะปิดตัวลง และจะส่งผลให้ตลาดเปลี่ยนเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย จะทำให้รายใหญ่ปรับขึ้นราคา หรือ ไม่ลดราคาลง ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ไม่สามารถใช้บริการในราคาที่ถูกกว่านี้ได้

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการแต่ละรายได้ยื่นข้อเสนอแนะให้ กสทช.แต่ก็ไม่มีการตอบรับไดๆ และไม่ได้นำข้อเสนอแนะมาปรับปรุง แก้ไขประเด็นที่เป็นสาระสำคัญเลย อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้า สมาคมฯจะนำส่งจดหมายคัดค้านดังกล่าวไปยัง กสทช.อีกครั้ง เพื่อขอให้ทบทวนนโยบายที่คาดว่าจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวในปลายปี 55 หรือในช่วงเดือน ม.ค.56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ