(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองภาพรวมศก.ไทยปี 55-56 โตในระดับ 5% ส่งออกปีหน้าฟื้นหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 13, 2012 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 55-56 น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 5% หรืออยู่ในกรอบคาดการณ์ 4.5-5.5% เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในปีหน้ามีแนวโน้มอัตราขยายตัวชะลอลงจากฐานที่สูงในปีนี้ ขณะที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกอาจเร่งตัวขึ้นมาที่ 12.5% หรืออยู่ในกรอบ 10-15% จากที่เติบโตเพียง 4% ในปี 55

ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนน่าจะชะลอการเติบโตลงหลังจากมาตรการของภาครัฐที่กระตุ้นการใช้จ่ายสิ้นสุดลง โดยเฉพาะรถยนต์คันแรกและบ้านหลังแรก ซึ่งมีผลต่อเนื่องทำให้ผู้บริโภคมีภาระผูกพันจากการซื้อสินค้าคงทน รวมถึงภาคเอกชนที่มีการลงทุนมูลค่าสูงเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัยเมื่อปี 54 ก็คงไม่ได้มีการลงทุนสูงมากในปีหน้า

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดว่าแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าคงจะมาจากภาคการส่งออกเป็นสำคัญ แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การแก้ไขวิกฤตหน้าผาทางการคลัง(Fiscal cliff)ของสหรัฐฯและวิกฤตหนี้ของสหภาพยุโรปที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก, ปัญหาตะวันออกกลางที่มีผลต่อราคาน้ำมัน, การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐและการผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน รวมถึงปัจจัยทางการเมืองในประเทศ เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าปัญหาทางการเมืองจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 คาดว่ามีโอกาสเร่งตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.5% เหลือเพียง 3.3% เนื่องจากสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกคลายความตึงตัวลง จึงมองว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่มีปัจจัยที่เป็นแรงหนุนในปีหน้าคือต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น การทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้ารอบใหม่

ขณะที่ปัจจัยที่จะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้ คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงระดับปัจจุบัน และแนวโน้มการชะลอตัวของการบริโภคอาจเป็นแรงต้านเงินเฟ้อที่มาจากอุปสงค์

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า ในปีหน้าให้จับตามองการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าแรงงานราว 70% ของแรงงานตามฐานค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศจะมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยรวมคิดเป็นสัดส่วน 0.6% ของ GDP และส่งผลต่อผู้ประกอบการที่อาจจะต้องปิดกิจการ

ขณะเดียวกันยังมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ 0.4% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้จะไม่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากนัก เพราะขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจยังขับเคลื่อนได้อยู่ ทั้งนี้เรื่องการเพิ่มผลิตภาพโดยรวมในระบบเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยยังต้องมุ่งเน้นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน เนื่องจากที่ผ่านมาผลิตภาพแรงงานไทยยังน้อยกว่าประเทศในภูมิภาค เช่น สิงค์โปร และมาเลเซีย

นางพิมลวรรณ กล่าวว่า ในปี 56 การส่งออกอาจเร่งตัวดีขึ้นในระดับ 12.5% คาดว่าความต้องการยางพาราในประเทศจีนมีแนวโน้มดีขึ้นประกอบกับความร่วมมือของประเทศผู้ผลิตในการลดปริมาณการส่งออกน่าจะช่วยดึงราคายางให้สูงขึ้น โดยมีมูลค่าการส่งออก 15-20% ในปี 2556 และ ปี 2555 จะอยู่ที่ -31%

พร้อมกันนี้ การลงทุนในโครงการของภาครัฐ เช่น ระบบขนส่งโลจิสติกส์, การบริหารจัดการน้ำ จะทำให้ภาคธุรกิจก่อสร้างมีการเติบโตไปจนถึงปลายปี 2556 ซึ่งช่วยกระตุ้นความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างให้ขยายตัวสูงขึ้น โดยมูลค่าการลงทุนในธุรกิจก่อสร้างจะขยายตัวถึง 11-12.2% ขณะที่ปี 2555 จะอยู่ที่ 10%

ส่วนการเปิดให้บริการโครงข่าย 3G คาดว่าจะเข้าไปกระตุ้นตลาดบริการด้านข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2556 ถึง 11.5-14.2% ขณะที่ปี 2555 จะอยู่ที่ 10.9% ส่วนในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น มองว่าในปี 2556 นักลงทุนจากต่างประเทศจะสนใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ในปี 2556 ปริมาณการส่งออกรถยนต์จะขยายตัวถึง 20-26% ส่วนในปีนี้ คาดว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ขยายตัวได้ถึง 38.5%

สำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) มองว่าในปี 2556 จะเป็นเป้าหมายหลักของเศรษฐกิจไทย โดยมี 2 ปัจจัย คือ การรวมกลุ่มกับประเทศในภูมิภาคและการรวมกลุ่มของอาเซียน+6 (Plus 6) ซึ่งคาดว่าธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์ในครั้งนี้ คือสินค้าแปรรูป, เครื่องดื่ม, สิ่งทอ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ปิโตรเคมี, อัญมณีและเครื่องประดับ, วัสุดก่อสร้าง, เครื่องจักรกลการเกษตร, บริการด้านการท่องเที่ยว, โรงพยาบาลเอกชน และค้าปลีก

ส่วนธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดีในการออกไปขยายการลงทุนในอาเซียน คือ ธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร, ปิโตรเคมี, วัสดุก่อสร้าง, บริการด้านการท่องเที่ยว, พลังงาน, สถานีบริการน้ำมันและก๊าซ ส่วนธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากที่จะมีการแข่งขันมากขึ้น เช่น ข้าว, น้ำมันพืช เครื่องนุ่งห่ม และอิเล็กทรอนิส์

รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า นอกจากจะมองภายในตลาดอาเซียนแล้ว ควรมองตลาดที่เกิดใหม่อย่างเช่นในกลุ่มประเทศ Other Next Eleven ที่ประกอบด้วย บังคลาเทศ, อียิปต์, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, เกาหลี, เม็กซิโก, ไนจีเรีย, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, ตุรกี และเวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 41%ของโลก มีจำนวนประชากร 70% มีประชากรเป็นชาวมุสลิมราว 30% ของประชากรโลก ในขณะที่ที่ผ่านมาประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ไม่ถึง 7%

"อยากให้ผู้ประกอบการมองตลาดใหม่ๆ ในการส่งออกอย่างประเทศที่มีการรวมกลุ่มของประเทศ 11 ประเทศโดยใช้ชื่อว่า Other Next Eleven ซึ่งในอนาคตจะมีกำลังซื้อที่ดีขึ้น" นางพิมลวรรณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ