เนื่องจากหากไม่มีมาตรการรองรับที่ดี อาจทำให้ภาคธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวได้รับผลกระทบในด้านการผลิตสินค้าได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น (labour intensive) เช่น ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกปีละ 150,000 ล้านบาท และธุรกิจก่อสร้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากด้วย
“ถ้าผลักดันแรงงานต่างด้าวโดยที่ไม่มีมาตรการรองรับ จะกระทบต่อยอดการส่งออกในปี 56 แน่นอน และที่ภาครัฐหวังว่ามูลค่าการส่งออกจะเติบโตมากกว่า 5% คงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และที่สำคัญจะซ้ำเติมผู้ประกอบการที่จะต้องปรับตัวรองรับการขึ้นค่าแรงงานเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศอีกด้วย" นายภูมินทร์ กล่าว
อนึ่ง มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.55 เห็นชอบการขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติและผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เม.ย.54 และวันที่ 13 ก.พ. 55 ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 14 มิ.ย.55 อยู่ในราชอาณาจักรต่อไปอีกจนถึงวันที่ 14 ธ.ค.55 และกระทรวงแรงงานจะผลักดันให้แรงงานทั้งที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมายแต่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติออกจากไทย
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กรรมการบริหารหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหาร และประมง ต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่คนไทยไม่ทำงานประเภทนี้ จึงต้องใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนี้ใช้แรงงานจากพม่ากว่า 90% รองลงมาเป็นลาว และ กัมพูชา โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ มีจำนวนแรงงานต่างด้าวกว่า 300,000-400,000 คน หรืออาจจะมากกว่านี้ ซึ่งหากมีการผลักดันออกไป จะทำให้การผลิตสินค้าต้องหยุดลงทันที และกระทบต่อการผลิตและส่งออกสินค้าแน่นอน
สำหรับข้อมูลแรงงานต่างด้าว จากกรมการจัดหางาน เมื่อวันที่ 23 พ.ย.55 พบว่ามีแรงงานต่างด้าว ที่จะต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ 886,507 คน เป็นแรงงานพม่า 565,058 คน ลาว 99,019 คน และกัมพูชา 222,430 คน แต่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 530,156 คน เป็นพม่า 473,380 คน และกัมพูชา 56,776 คน คงเหลือแรงงานที่ยังพิสูจน์สัญชาติไม่แล้วเสร็จอีก 356,351 คน และคาดว่า ยังมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติอีก 500,000-800,000 คน