(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.คาดเศรษฐกิจปี 55 โต 5.8%จากเดิม 5.7%,ปี 56 โต 4.7% จาก 4.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 14, 2012 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 55 จะขยายตัวที่ระดับ 5.8% ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 5.7% ส่วนในปี 56 น่าจะขยายตัวได้ราว 4.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.6%

ทั้งนี้เป็นผลมาจากแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่เป็นการใช้จ่ายของภาคเอกชนตามนโยบายบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องไปจนถึงปี 56 นอกจากนี้ภาคเอกชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยเมื่อปลายปี 54 ยังจะมีการลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ตลอดจนการส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่เสถียรภาพ โดยมูลค่าการส่งออกเริ่มทรงตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/55 ทำให้การส่งออกในปี 55 จะมีอัตราการขยายตัวได้ไม่ถึง 4.4% แต่จะเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 56 ซึ่งจะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 56

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในประเทศ ได้แก่ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ ซึ่งต้องดูผลการปรับตัวของภาคเอกชน และความคืบหน้าเรื่องการลงทุนภาครัฐว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งหากมีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าก็จะส่งผลกระทบมายังการลงทุนของภาคเอกชนด้วย

ส่วนปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศยังคงต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจผันผวน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะหน้าผาการคลัง(Fiscal Cliff) ที่จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ แต่คาดว่าจะมีการเจรจาเพื่อรอมชอมกันได้ ซึ่งหากสามารถตกลงกันได้จะส่งผลจีดีพีลดลงเพียง 1.0-1.4% เท่านั้น ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเฉพาะปัญหาหนี้เสียของกรีซแม้จะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้แต่ต้องเผชิญความท้าทายในทางปฏิบัติ ส่วนภาวะเศรษฐกิจของจีนและเอเซียมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นคงต้องดูผลการเลือกตั้ง

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันในอีก 70 จังหวัดที่เหลือจะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนกว่าช่วงที่นำร่องประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 7 จังหวัดแรก โดยเฉพาะในเรื่องรายได้ของผู้ประกอบการรายเล็ก(SMEs) แม้ภาครัฐจะให้ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่คงจะไม่สามารถช่วยชดเชยผลกระทบดังกล่าวได้ ซึ่งอาจเกิดปัญหาเลิกจ้างหรือปิดกิจการกับผู้ประกอบการบางรายที่ไม่สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบดังกล่าวได้ และจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อด้วย โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งแรกส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 40% ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งใหม่ที่จะเริ่มในปี 56 จะส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 22%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ