แบงก์ชาติ-เอกชนมอง GDP ไทยปี 56 ยังโตต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกฟื้น-พื้นฐานแกร่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 14, 2012 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในงาน Dinner Talk หัวข้อ"ความท้าทาย...เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก"ว่า เศรษฐกิจโดยรวมของโลกในปีหน้าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีน สหรัฐ และประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง หลังจากปีนี้มีการลงทุนของภาคเอกชนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังมีต่อเนื่องไปถึงปีหน้าอีกเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ในปี 56 ยังต้องจับตาสหภาพยุโรป(อียู)ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง แต่ก็ยังไม่ดีมากนัก เพราะยังประสบปัญหาหนี้สาธารณะ จึงต้องคอยสังเกตว่าจะมีการแก้ปัญหาอย่างไรต่อไป และยังต้องจับตาญี่ปุ่นที่ยังประสบปัญหาเศรฐกิจหดตัวอยู่ ดังนั้น AEC และจีน อาจยังได้รับผลกระทบต่อการส่งออกบ้าง แต่ในปัจจุบันเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว โดยภาคการส่งออกของไทยคาดว่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับการลงทุนของภาครัฐในปีหน้าจะมีโครงการต่างๆออกมามากขึ้น แต่ปกติแล้วการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ก็มักจะล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งก็จะส่งผลกระทบกับแผนงานของภาคเอกชนด้วย ส่วนผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศนั้น ต้องติดตามว่าภาคเอกชนจะสามารถปรับตัวรับสภาพได้หรือไม่ และจะส่งผลทำให้การพัฒนาธุรกิจลดลงหรือไม่ หรืออาจทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น

"บริษัทที่สู้กับค่าแรง 300 บาท ไม่ไหว ก็จะทำให้เกิดการปลดพนักงานออก ในขณะเดียวกันมองว่าการลดภาษีนิติบุคคลไม่สามารถชดเชยการขึ้นค่าแรง 300 บาทได้"นายประสาร กล่าว

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังน่าจะขยายตัวได้ดี โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ในช่วง 5-7% จากการฟื้นตัวของผู้ประกอบการ และพื้นฐานเศรษฐกิจมีความแข็งเกร่ง โดยคาดว่าภาคอุตสาหกรรมของไทยจะยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากค่าแรงและค่าเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ เชื่อว่าการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในปี 56 จะยังเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ เพราะปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งขายที่ดินไปได้เกือบหมดแล้ว โดยมองว่าผู้ประกอบการญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.เห็นว่าภาครัฐควรจะเข้ามาช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงในช่วงแรก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อให้ปรับตัวได้ และมองว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันกับต่างประเทศทำได้ยากมากยิ่งขึ้น แต่ก็เห็นว่าการค้าชายแดนจะมีความสำคัญต่อไทยมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 56 จะมีรายได้จากการค้าชายแดนสูงขึ้นเป็น 9-10% ต่อจีดีพี

นายพยุงศักดิ์ เห็นว่า ไทยควรจะเจาะตลาดการค้าขายแดนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการค้าขายกับประเทศพม่า เพราะมองว่าพม่าจะเป็นคู่ค้าสำคัญในอนาคต และมีชายแดนติดกับประเทศไทยกินบริเวณไปในหลายจังหวัด ทำให้ไทยได้เปรียบประเทศอื่นในการค้าขายกับพม่า

ส่วนนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะเติบโตในระดับ 5% โดยการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก จึงต้องจับตาปัญหาเศรษฐกิจในกลุ่มยุโรปที่คาดว่าถึงแม้ในปี 55 จะแย่แล้ว แต่ก็มองว่าในปี 56 ก็มีโอกาสจะแย่ลงอีก ส่วนสหรัฐคาดจะเริ่มดีขึ้น

ทิศทางอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างในปี 56 ผลิตภัณฑ์กลุ่มซิเมนต์ยังน่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องไปถึงกลางปี 56 หลังจากเห็นแนวโน้มดีตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3-4/55 ที่ความต้องการสูงมากในรอบหลายสิบปี มองว่าตลาดในประเทศมีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยปัจจุบันต่างจังหวัดมีสัดส่วนการใช้ซิเมนต์สูงขึ้นเป็น 70% ของตลาดทั้งหมด

ขณะที่ตลาดซิเมนต์ต่างประเทศก็ยังเติบโตดีต่อเนื่องในปีหน้า ได้แก่ อินโดนีเซีย และพม่า เพราะเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนมาก เพราะเป็นประเทศที่ได้เปรียบด้านแรงงานและทรัพยากรที่มีเป็นจำนวนมาก

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT)กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปีนี้ค่อนข้างมีความผันผวน เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจหลักอันดับ 1-3 ของโลกมีการถ่ายโอนอำนาจจากการเปลี่ยนแปลงผู้นำในช่วงไตรมาส 4/55 เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น คาดว่าเมื่อการเปลี่ยนแปลงผู้นำเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วเศรษฐกิจโลกจะกลับมาเติบโตขึ้นเหมือนเดิม

แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกในปี 56 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในกรอบ 100-110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลใกล้เคียงกับปีนี้ โดยราคาจะปรับขึ้นลงตามสถานการณ์การเมืองในต่างประเทศ อาทิ การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิสราเอลที่เลื่อนมาเร็วขึ้น และสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ที่เริ่มระอุขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะอาจมีผลกระทบต่อการขนส่งทางเรือระหว่างเอเชียไปยังสหรัฐอเมริกา

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะแกว่งตัวที่ระดับ 105-110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นายไพรินทร์ มองว่า การเปิดประชาคมอาเซียน(AEC) ในปี 58 ภาคธุรกิจมองถึงโอกาสในการขยายธุรกิจตามขนาดตลาดที่จะใหญ่ขึ้น จากจำนวนประชากรที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านคน แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์เงื่อนไขของ AEC ด้วย ซึ่งในส่วนของบริษัทขนาดใหญ่ อย่างกลุ่ม ปตท.และธนาคารพาณิชย์ที่มีความแข็งแกร่ง มองว่า AEC ไม่ได้มีผลกระทบแง่ลบต่อธุรกิจ แต่เป็นโอกาสในการขยายฐานการลงทุนมากกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ