นักวิชาการนิด้า มอง ศก.ไทยปีหน้าโต 5-5.5% จากแรงหนุนการลงทุนภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday December 16, 2012 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA ภาคพิเศษ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คาดการณ์ว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 56 จะขยายตัวที่ระดับ 5-5.5% เนื่องจากการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การส่งออกขยายตัว 5-8% จากปี 55 ที่คาดเศรษฐกิจไทยขยายตัวอยู่ที่ระดับ 5.5% โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อัตราเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
"ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประสบปัญหาอุทกภัยกว่า 10% ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัวได้ถึง 5.5% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวราว 5-5.5%" นายมนตรี กล่าว

โดยในปีหน้ามีปัจจัยบวกมากกว่าปัจจัยลบ ได้แก่ การลงทุนของภาครัฐ ทั้งในส่วนที่มาจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ขาดดุล 3 แสนล้านบาท เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท งบโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 2.27 ล้านล้านบาท งบโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.7 ล้านล้านบาท เป็นต้น ซึ่งหากสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ตามแผนงานก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้รัฐบาลยังปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 23% มาเป็น 20%, เงินบาทแข็งค่าจากกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% แต่อาจมีการปรับลดลงอีก 2 ครั้งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 56

สำหรับปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปและภาวะเศรษฐกิจผันผวนของสหรัฐนั้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะเชื่อว่ามาตรการ QE3 และ QE4 ของสหรัฐจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตในปีหน้าอยู่ที่ 2.5-3% ซึ่งส่งผลดีไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปให้กลับมามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวก 0.5% จากที่ติดลบในปีนี้ ขณะที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเซียอย่างจีนจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 8.5-9% และอินเดียอยู่ที่ 7% อย่างไรก็ตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยยังพึ่งพาต่างประเทศถึง 72% จึงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ แต่เชื่อว่าทิศทางเศรษฐโลกจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ผันผวนทางการเมืองในประเทศนั้น ปัญหาความขัดแย้งไม่น่าจะเหตุรุนแรงเหมือนในอดีต รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้หมดไปก่อน ไม่ควรเร่งแก้รัฐธรรมนูญที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา

นายมนตรี กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 58 ถือเป็นโอกาสดีของไทยที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะรองรับการลงทุนของประเทศต่างๆ ที่กำลังหลั่งไหลเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมไว้รองรับให้ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ