KGI คาด GDP ปี 56 โต 4.5% การใช้จ่าย-ลงทุนภาครัฐเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 17, 2012 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.เคจีไอ(KGI) ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 56 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 4.0-4.5% แต่มีแนวโน้มขยายตัวใกล้ 4.5% โดยฐานต่ำในไตรมาสที่ 1/55 จะส่งผลให้ GDP ไตรมาสที่ 1/56 ขยายตัวในระดับสูง เนื่องจากฐานของ GDP ที่ยังได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม แต่จะชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2/56 เนื่องจากฐานสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคาดว่ารัฐบาลจะเร่งการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในโครงการต่างๆ ที่ระบุไว้ในเอกสารงบประมาณ รวมทั้งการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บวกกับโครงการรับจำนำผลผลิตข้าวนาปีและนาปรังจะเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้ GDP ไตรที่ 1/56-2/56 และ 4/56 ขยายตัว

"ส่วนโครงการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท และโครงการป้องกันน้ำท่วมมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท อาจจะไม่สามารถผลักดันให้ GDP ขยายตัว เนื่องจากคาดว่าจะยังไม่เริ่มลงทุนอย่างจริงจังในปี 56 ซึ่งเราไม่ได้นำโครงการต่างๆ เข้ามาคำนวณในการประมาณการ GDP ปี 56" บทวิเคราะห์ ระบุ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 56 มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยในช่วง 3.1-3.3% และ 2.0-2.2% ขยายตัวในระดับที่ไม่สูง โดยจะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย แม้ว่าจะมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เนื่องจากรัฐบาลจะใช้วิธีการควบคุมราคา

นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ในช่วง 107 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล(+/-15 ดอลลาร์ฯ) ส่วนน้ำมันเบนซินที่ตลาดสิงคโปร์จะเฉลี่ยอยู่ในช่วง 115 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล(+/-20 ดอลลาร์ฯ) ตามความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งมากจากเศรษฐกิจของยูโรยังอยู่ในภาวะถดถอยที่จะส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป(ECB) จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเหลือ 2.25-2.50% ในปี 2556

ในด้านการส่งออกนั้น มองว่ามูลค่าส่งออกปี 2556 จะขยายตัวได้เพียง 7-8% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ไม่สูง เป็นผลมาจากภาวะการค้าโลกยังซบเซาจากเศรษฐกิจของยูโรโซนและญี่ปุ่นหดตัว ส่วนโครงการรับจำนำผลผลิตข้าวของรัฐบาลจะเป็นอีกปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ปริมาณส่งออกของไทยจะขยายตัว 8-10% เท่านั้น ขณะที่ภาคส่งออกจะได้รับผลบวกจากอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่จะเน้นส่งออกมากขึ้นในปีหน้า

ส่วนค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปซื้อขายที่ระดับต่ำกว่า 30 บาท/ดอลลาร์ อีกครั้ง โดยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 29.50 หรือ 29.00 และจะแกว่งตัวในช่วง 29.00-31.25 บท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่จะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น คือ ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเนื่องจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ, เงินทุนต่างประเทศมีแนวโน้มไหลเข้าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าและปลอดภัยกว่าพันธบัตรรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ และเงินทุนต่างประเทศมีแนวโน้มไหลเข้าลงทุนตลาดหลักทรัพย์ไทยที่มีผลประกอบการที่ดี

ส่วน GDP ในไตรมาส 4/55 จะอยู่ที่ 8.1-9.3% ซึ่งการขยายตัวในระดับสูงดังกล่าวเป็นผลจากฐานที่ต่ำเนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปีที่ผ่านมา รวมทั้งการเร่งเบิกเงินงบประมาณของรัฐบาล และ การลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ GDP ปี 55 ขยายตัว 5.3-5.5%

"เราคาดว่าการขยายตัวของสินค้าคงคลัง โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ GDP ขยายตัวในระดับสูง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ จะยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ GDP ขยายตัว" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของ GDP ในไตรมาส 4/55 ที่ 9.3% ยังถือว่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับที่ GDP ไตรมาสที่ 4/54 หดตัวสูงถึง 8.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากที่หดตัวลงอย่างรุนแรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ