สศก.คาดจีดีพีภาคเกษตรปี 56 ขยายตัว 3.5-4.5% จาก 4.0% ในปี 55

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 17, 2012 11:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึง แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 56 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 จากปี 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.0

สำหรับสาขาพืช มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 — 5.0 หากสภาพอากาศเอื้ออำนวยสำหรับพืชสำคัญหลายชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลผลิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรและการควบคุมการแพร่ระบาดของศัตรูพืชที่ดี สำหรับยางพารา คาดว่ามีเนื้อที่กรีดยางเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปาล์มน้ำมันที่ปลูกในช่วงปี 2551 - 2553 เริ่มให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ไม้ผล เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ และส้มเขียวหวานมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ ราคาผลผลิตพืชมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนการส่งออกขึ้นอยู่กับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ สภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่แปรปรวน อาจกระทบต่อแหล่งเพาะปลูกธัญพืชที่สำคัญ ทำให้ราคาธัญพืชและอาหารของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้

ส่วนสาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 — 2.8 เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายการผลิต มีการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม กระบวนการควบคุม และเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยการผลิตยังมีความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน โรคระบาด และต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาปศุสัตว์โดยเฉลี่ยคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งไก่เนื้อ สุกร ขณะที่ราคาไข่ไก่และน้ำนมดิบแนวโน้มทรงตัว ยังมีความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และคุณภาพของน้ำนมดิบ

สาขาประมง มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.2)-0.8 เนื่องจากการผลิตประมงน้ำจืดและประมงทะเลยังอยู่ในภาวะทรงตัว ปริมาณผลผลิตประมงน้ำจืดขึ้นอยู่กับการวางแผนการผลิตและสภาพภูมิอากาศ ในส่วนของประมงทะเลขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคระบาดที่เกษตรกรต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากสภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนก็จะทำให้ผลผลิตลดลง

สศก.มองว่า สถานการณ์ด้านราคาและการค้าในปีหน้า คาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลผลิต มีคุณภาพที่ดีตรงตามความต้องการของตลาด

ขณะที่สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าในปี 56 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญหลายชนิดเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจทางด้านราคา เช่น ข้าว และอ้อยโรงงาน ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ทำให้มีการใช้เครื่องจักรทดแทนมากขึ้น ส่งผลให้มีกิจกรรมการให้บริการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น

และ สาขาป่าไม้ ในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.5-1.5 จากนโยบายการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าอายุ 30 ปี จำนวน 500,000 ไร่ ระหว่างปี 2555-2556 ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.)ยังคงเหลือพื้นที่เป้าหมายอีกประมาณ 260,000 ไร่ รวมถึงมูลค่าผลผลิตและส่งออก น้ำผึ้ง ครั่ง และยางไม้ธรรมชาติ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

ส่วนการผลิตถ่านไม้และไม้ฟืนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ที่ลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ