In Focusเหลียวดูเศรษฐกิจโลกปีมังกร จับชีพจรอเมริกาบนหน้าผาการคลัง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 19, 2012 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในขณะที่คนทั่วโลกกำลังตั้งรอการเคาท์ดาวน์สู่วันสิ้นปีคริสตศักราช 2012 กันอย่างใจจดใจจ่อนั้น แต่คนจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกเหงาหงอยและขาดความมั่นใจ และบางคนอาจถึงรู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะประชาชนในประเทศที่ได้ชื่อว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ และชาวยูโรโซนที่ถูกคนจำนวนมากค่อนแคะว่าเป็นต้นตอที่ทำเศรษฐกิจโลกซบเซาติดต่อกันหลายปี

อันที่จริง กูรูหลายท่านได้ลั่นฆ้องร้องเตือนเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ปี 2012 จะเป็น "ปีมังกรดุ" พร้อมกระตุ้นเตือนให้นานาประเทศเตรียมตั้งการ์ดและปรับโหมดเข้าสู่การ "รับมือกับวิกฤตการณ์เลวร้ายสุด" ในปีนี้ สาเหตุหลักๆ ก็มาจากปัญหาหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดของประเทศยุโรปและสหรัฐ และผลพวงของภัยพิบัติที่รอการฉุดลากเศรษฐกิจให้ดิ่งลงเหวอย่างไม่ลืมหูลืมตา

เศรษฐกิจโลกตั้งแต่ต้นปี 2012 จนถึงวันนี้ซึ่งเกือบจะจบไตรมาสที่ 4 นั้น ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะภาคการผลิตที่หดตัวลงอย่างชนิดกู่ไม่กลับ นั่นเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจของสองขั้วอำนาจอย่างสหรัฐและจีนต่างชะลอตัว และฉุดเอาเศรษฐกิจทั่วโลกถอยหลังลงคลองกันถ้วนหน้า แต่ที่ต่างกันก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐเกิดจาก "ภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงถดถอยและฝืดเคือง" ในขณะที่ปัญหาของจีนเกิดจากการที่รัฐบาล "คุมเศรษฐกิจไม่ให้โตเร็วเกินไป"

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สาธารณะของยูโรโซนที่ถาโถมเข้าใส่เศรษฐกิจโลกตั้งแต่ต้นปีนั้น ยังเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องทุ่มเทสรรพกำลังออกมาแก้ไขปัญหาอย่างเต็มสูบ ไล่ตั้งแต่พี่ใหญ่อย่างสหรัฐที่เข็นมาตรการ QE3 ออกมาตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ด้วยการซื้อสินทรัพย์วงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน แต่ก็ไม่อาจสยบพิษเศรษฐกิจเอาไว้ได้ จึงได้ตัดสินใจเข็น QE4 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยการซื้อพันธบัตรรอบใหม่วงเงิน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยหวังว่าจะกดอัตราว่างงานให้ลดลงต่ำกว่า 6.5% ... ส่วนในฝั่งยุโรปนั้น ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็ผุดโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อหวังจะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบให้ไหลเวียนคล่องตัว และผลพลอยได้คือทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศยูโรโซนลดลงด้วย

แต่ในช่วงกลางปีนี้ ตลาดการเงินทั่วโลกต้องสะดุ้งโหยงกับ Key Word คำใหม่ คือ "หน้าผาการคลัง" หรือ "fiscal cliff" เพราะในบรรดา Key Word ของปี 2012 ที่สามารถเขย่าจิตใจประชาชนคนทั้งโลกได้มากที่สุดนั้น นอกจากคำว่า "วิกฤตหนี้ยุโรป ... QE ...ความไม่แน่นอน ... วิกฤติเศรษฐกิจ ...เศรษฐกิจถดถอย ... วิกฤติตะวันออกกลาง ...และราคาน้ำมันแพง" แล้ว คำว่า "หน้าผาการคลัง" ทำเอาคนจำนวนมากใจหวิวจนเหมือนกับตัวเองกำลังตกหน้าผาจริง

"Fiscal Cliff" หรือแปลเป็นไทยตรงตัวว่า “หน้าผาทางการคลัง” เป็นคำที่เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บัญญัติขึ้นเพื่อใช้เรียกสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากเป็นช่วงของการสิ้นสุดของมาตรการลดหย่อนภาษีหลายๆมาตรการ และเป็นการเริ่มต้นของมาตรการการปรับลดงบประมาณของภาครัฐ

เหตุผลที่หัวเรือใหญ่ของเฟดต้องบัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมาก็เพราะต้องการย้ำเตือนชาวอเมริกันทุกคนว่า ในปี 2011 ที่ผ่านมานั้น สหรัฐได้ประสบกับปัญหาภาระหนี้ชนเพดาน (หรือวงเงินสูงสุดที่รัฐบาลจะกู้ได้) ทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเติม โดยเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องทำเพื่อการปรับเพิ่มเพดานดังกล่าวคือ รัฐบาลจะต้องมีการดำเนินการปรับลดรายจ่ายของภาครัฐลงมาด้วย และหากไม่สามารถทำได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ ก็จะมีการปรับลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 มกราคม 2013 นี้

ผลจากมาตรการ 2 มาตรการ ทั้งการสิ้นสุดการปรับลดภาษีและการตัดลดงบประมาณด้านรายจ่ายของภาครัฐ ซึ่งมีวงเงินรวม 6 แสนล้านดอลลาร์นั้น ถึงแม้ว่าจะทำให้รายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ แต่ก็จะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างมีนัยสำคัญ เพราะในส่วนของมาตรการภาษี หากสิ้นสุดลง ก็จะทำให้ประชาชนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น และมีเงินคงเหลือเพื่อใช้จ่ายน้อยลง ในขณะมาตรการด้านงบประมาณที่จะต้องปรับลดลงมานั้น ก็จะทำให้รัฐบาลนำเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุการณ์ทั้งสองอย่างนี้เลย ก็มีสิทธิที่เศรษฐกิจจะหยุดชะงัก หรือหดตัวลงรุนแรง หรือเปรียบเสมือนกับการตกหน้าผานั่นเอง

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า หากเกิด Fiscal Cliff ขึ้นมาเต็มจำนวนทั้ง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปีหน้า หดตัวลงถึง 1.00% และจะทำให้อัตราการว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 10% จากระดับปัจจุบันที่ 8.30% แต่หากปัญหา Fiscal Cliff ไม่ได้เกิดขึ้นเต็มจำนวนอย่างที่คาดไว้ ความรุนแรงก็จะลดน้อยลงมาตามลำดับ แต่ก็จะมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแน่นอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จะว่าไปก็น่าเห็นใจสหรัฐไม่น้อย โดยเฉพาะประธานาธิบดีโอบามา ที่เพิ่งเจอกับ "ฝันร้ายแห่งปี" จากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่โรงเรียนประถมศึกษาแซนดี้ฮุค เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเน็คติคัต ซึ่งคร่าชีวิตเด็กและเจ้าหน้าที่โรงเรียนไปมากถึง 26 คน ซ้ำยังต้องใจหายใจคว่ำกับการลุ้นว่า รัฐบาลและสภาคองเกรสจะสามารถตกลงกันได้หรือไม่ในการนำพาประเทศให้รอดพ้นจากการตกหน้าผาการคลัง อย่างไรก็ตาม โอบามาที่เพิ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 พยายามปลอบใจชาวอเมริกันว่า เขาจะให้ของขวัญคริสต์มาสประชาชนด้วยการ "ยอม" รับข้อตกลงบางข้อ เพื่อให้สหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงหน้าผาการคลังได้ แต่โอบามาจะยอมได้แค่ไหน ก็ต้องรอลุ้นกันในอีกสัปดาห์ข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ