นายกฯ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการจัดทำแผนที่โซนนิ่งภาคเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 19, 2012 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตรและทิศทางการพัฒนาภาคและพัฒนากลุ่มจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้สั่งการให้ 1. การจัดทำแผนที่ฐาน (Master Map) มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการจัดทำแผนที่ฐาน โดยให้เริ่มจากหน่วยงานที่มีข้อมูล/แผนที่สมบูรณ์และละเอียดมากที่สุดเป็นฐาน จากนั้นจึงทับซ้อนกับข้อมูล/แผนที่ของหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งนี้แผนที่ควรอยู่ในมาตราส่วนเดียวกัน เพื่อให้ได้แผนที่ที่ดินภาพรวมของประเทศ โดยจัดกลุ่มของแผนที่ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.1) ด้านเศรษฐกิจ (หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ) 1.2) ด้านความมั่นคง (หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม ตำรวจ เป็นต้น) 1.3) ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรฯ )

2.การจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้หน่วยงานด้านการทำแผนที่ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ GISTDA รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดในการทำแผนที่ และปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด หลังจากนั้น จัดทำแผนที่ตามชั้นของข้อมูล (Layers) โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมกันพิจารณาตรวจสอบข้อมูลที่จัดทำขึ้น เพื่อจัดทำแผนที่โซนนิ่งภาคเกษตรที่มีความเหมาะสม

และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) บูรณาการแนวทางการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดทำโซนนิ่งเกษตร ในรูปแบบ Business Model อาทิ โครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น และจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดให้มีความสอดคล้องกัน โดยให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน รวมทั้งมอบหมายให้ สศช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ อีก 2-3 ครั้ง โดยในครั้งต่อไป ให้เน้นแนวคิด/หลักการของการจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตรให้ชัดเจน และต่อด้วยการประชุมในกลุ่มย่อย จากนั้นให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อรับผิดชอบการดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดว่า ให้ สศช. และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดส่งข้อมูลโครงสร้างเศรษฐกิจและแนวทางการพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ให้กับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการจัดส่งข้อมูลต่อให้กับจังหวัดต่าง ๆ เพื่อใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด/จังหวัด ต่อไป ขณะเดียวกันก็มอบหมายให้แต่ละจังหวัดปรับแก้ไขรายละเอียดแผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด เพื่อเสนอขอจัดสรรงบประมาณ โดยการกำหนดโครงการ ควรเน้นใน 3 ประเด็น ได้แก่ สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย เช่น การขนส่ง โลจิสติกส์ ต้นทุนการผลิต ฯลฯ และขยายโอกาส/สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ