ศูนย์พยากรณ์เกษตรฯคาดส่งออกปีหน้าโต 5.35% แนะจับตาปัจจัยเสี่ยงใน-ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 20, 2012 14:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) คาดภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตร ปี 56 เติบโต 5.35% มาที่ 201,100.76 ล้านบาท จาก 190,883.37 ล้านบาท ในปี 55 โดยปีหน้ายังมีปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งจากภายนอกและในประเทศ

ในส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2556 ยังคงมีความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศผู้นำ มีแน้วโน้มขยายตัวและการปรับตัวที่ดีขึ้น ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการต่าง ๆ, การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ การสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจเก่าและมหาอำนาจใหม่ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และการใช้เครื่องมือใหม่ๆในการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ และแสวงหาประโยชน์จากประเทศอื่นๆ, ระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ที่คาดว่าแนวโน้มราคาน้ำมันยังคงตัว โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2556 คาดว่ามีแนวโน้มอยู่ในช่วง 108 — 113 ดอลลาร์/ บาร์เรล เทียบกับ 109.5 ดอลลาร์/บาร์เรล,

ปริมาณการค้าโลกทางการเกษตร ประเทศไทยมีจุดแข็งในการค้าสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพราะประเทศไทยจะมีผลผลิตสินค้าเกษตรมากกว่าการบริโภคในประเทศ โดยเป็นผู้ส่งออกข้าว มัน ยางเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในปัจจุบันมีประเทศอื่นๆ ที่สามารถเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรและส่งออกสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น เช่น เวียดนาม พม่า และกัมพูชา แต่ปริมาณความต้องการสินค้าเกษตรของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจของโลก ดังนั้น จะทำให้มีปริมาณสินค้าเกษตรขายในตลาดโลกมาก ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลงได้ ซึ่งจะกระทบต่อระดับราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ, อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ คาดว่า ในปี 56 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.00-31.00 บาท/ดอลลาร์ โดยคาดว่าจะมีความผันผวนในกรอบแคบๆ ซึ่งผลของอัตราแลกเปลี่ยนจะมีผลกระทบต่อภาคเกษตร เนื่องจาก สินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยที่ขายในตลาดโลก มีการค้าขายกันโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในประเทศ ประกอบด้วย การส่งออกสินค้าเกษตรไทย/และรวม Thai — Export, Ag — Export ที่จำเป็นต้องมีการควบคุมดูแลและตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าของไทยมีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเริ่มตั้งแต่การควบคุมกระบวนการ การเพาะปลูก การผลิต ผลิตภัณฑ์สุดท้าย จนถึงมือผู้บริโภค ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า และทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้, ปัญหาภัยธรรมชาติ (ภัยแล้ง น้ำท่วม) ที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร การบริโภคภาคเอกชนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม,

เงินทุนไหลเข้าของไทย ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจจะสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งก่อให้เกิด อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) ที่มีแน้วโน้มสูงขึ้น, นวัตกรรมใหม่ทางการเกษตร ประกอบกับภาครัฐและเอกชนได้มีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในทางที่ดีขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคที่ดี มีคุณภาพ ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น, แรงงานภาคการเกษตรมีแนวโน้มอายุสูงขึ้น ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นส่งผลให้แนวโน้มแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น, หนี้สาธารณะของประเทศไทย, ราคาสินค้าเกษตรและแนวโน้ม

อีกทั้ง นโยบายภาครัฐสำหรับภาคการเกษตร-นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร และมาตรการรองรับ หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ