สำนักวิจัยฯ คาดส่งออกปี 56 ลุ้นโต 2 digit หลังมุ่งขยายตลาดใหม่ จากปีนี้โต 3-4%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 21, 2012 10:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยหลายแห่งคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันว่าการส่งออกไทยของไทยในปี 55 จะเติบโตเพียง 3-5.5% หลังจากช่วงเดือนที่ผ่านมาๆ อัตราการขยายตัวติดลบเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากได้รับผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังยืดเยื้อทั้งสหรัฐและยุโรป กระทรวงพาณิชย์ยอมรับปาดเหงื่อลุ้นช่วงที่เหลือ 2 เดือนสุดท้ายต้องทำมูลค่าส่งออกสูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลล์ เพื่อผลักดันทั้งปีโตได้ 4.17%

ส่วนในปี 56 แนวโน้มส่งออกของไทยเริ่มเห็นแววสดใสขึ้นบ้าง โดยเชื่อว่ามีโอกาสขยายตัวเป็นเลขสองหลักในช่วง 10-15% เหตุเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา คือ ความต่อเนื่องของการแก้ไขปัญหาวิกฤติยูโรโซน และปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐฯ รวมทั้งมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศต่าง ๆ จะทยอยประกาศออกมา

                              ประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยปี 55-56

          หน่วยงาน                              ปี 55           ปี 56

กระทรวงพาณิชย์                                  4.17%           8-9%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                                   4%           10-15%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB                           3%            7.2%
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB                        4%            6.5%
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม.รังสิต           4%            11%
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   5.5%          12.2%

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าการส่งออกในปี 55 จะเติบโตได้เพียง 4% ปัจจัยบวกมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยที่เริ่มปรากฎสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4/55 และน่าจะส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, น้ำมันสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง(เพื่อผลิตเอทานอล) และสินค้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์

ทั้งนี้ การขยายตัวของการค้าในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และสิงคโปร์ที่เริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกับภาพเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของอาเซียนเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ก็จะช่วยสนับสนุนทิศทางการค้าภายในภูมิภาคอาเซียนให้พลิกกลับมาขยายตัว และเสริมให้มูลค่าส่งออกสินค้าหลายรายการของไทย เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องจักรกล, เคมีภัณฑ์, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กให้ปรับตัวดีขึ้นในระยะถัดไป

ขณะเดียวกันการฟื้นฟูความเสียหายจากพายุเฮอริเคนแซนดี้ในสหรัฐฯ ที่น่าจะช่วยหนุนให้สินค้าส่งออกของไทยบางประเภทไปยังสหรัฐฯ สามารถเติบโตได้ และเติบโตอย่างต่อเนื่องไปถึงปี 56 ประกอบกับหากสหรัฐฯ สามารถแก้ปัญหาภาวะหน้าผาทางการคลัง(Fiscal Cliff) ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการพลิกฟื้นการเติบโตของเศรษฐกิจได้

สำหรับในปี 56 คาดว่าการส่งออกจะปรับตัวสูงขึ้นที่ 12.5% โดยอยู่ในกรอบ 10-15% เนื่องจากมีปัจัยบวกจากแรงเสริมจากราคาโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะสูงขึ้น และปัจจัยบวกภายในประเทศยังคงได้รับอานิสงค์จากนโยบายของรัฐบาลที่มีผลต่อเนื่องมาจากปีก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจในปีหน้าจะเติบโตได้จากแรงขับเคลื่อนภาคการส่งออกเป็นสำคัญ แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การแก้ไขวิกฤตหน้าผาทางการคลัง(Fiscal cliff)ของสหรัฐฯ และวิกฤตหนี้ของสหภาพยุโรปที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก, ปัญหาตะวันออกกลางที่มีผลต่อราคาน้ำมัน, การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐและการผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน รวมถึงปัจจัยทางการเมืองในประเทศ เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าปัญหาทางการเมืองจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก

ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB Analytics)ประเมินว่าภาพรวมส่งออกในปี 55 น่าจะขยายตัวได้ 3% แต่ยังไม่สะท้อนถึงการฟื้นตัวแต่อย่างใด เพราะส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำจากมหาวิกฤตอุทกภัยในปลายปีที่แล้ว ประกอบกับ ภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญยังคงมีทิศทางอ่อนแรง โดยเฉพาะยุโรปที่ปัญหาหนี้สาธารณะยังคงยืดเยื้อ และสหรัฐฯก็มีประเด็นหน้าผาการคลัง(Fiscal Cliff)

ดังนั้น แนวโน้มส่งออกในปี 56 จึงหนีไม่พ้นที่จะขับเคลื่อนด้วยการส่งออกไปยังประเทศฝั่งตะวันออกเป็นหลัก ได้แก่ ตลาดอาเซียนเดิม(สิงคโปร์,มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และบรูไน) ตลาดอาเซียนใหม่(เขมร, ลาว, พม่า และเวียดนาม หรือ CLMV) จีน และญี่ปุ่น ทำให้ขยายตัวได้มากขึ้นที่ 7.2% โดยที่ตลาด CLMV ได้กลายเป็นหัวรถจักรที่สำคัญสำหรับการส่งออกไทย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี มองว่าแนวโน้มในระยะกลาง ตลาด CLMV จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายปัจจัยหนุน ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงจากการเป็นแหล่งทรัพยากรที่ดึงดูดการลงทุนต่างชาติ, การยอมรับในเรื่องมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าไทย รวมทั้งแผนการพัฒนาเส้นทางขนส่งร่วมกันเพื่อรองรับ AEC ซึ่งคาดว่าตลาด CLMV จะขยายตัวแข็งแกร่งเฉลี่ย 11.8% ในช่วงปี 56-58 สวนทางกับตลาดยุโรปที่มีบทบาทลดลง ทำให้สัดส่วนการส่งออกไป CLMV เพิ่มขึ้นจาก 7.7% ในปี 55 ไต่สู่ระดับ 9% ในปี 58 แซงหน้ายุโรปที่คาดว่าจะลดบทบาทอยู่ที่ 8.8% และผลักดันให้ตลาด CLMV ขึ้นแท่นเป็นตลาดศักยภาพสูงของไทย

ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ประเมินว่า การส่งออกไทยในปีนี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปที่ยังคงไม่มีความแน่นอน รวมไปถึงการชะลอตัวในภาคอุตสาหกรรมของจีนจนถึงสิ้นปี ดังนั้น คาดว่าทั้งปีนี้การส่งออกจะโตได้เพียง 4%

ส่วนปี 56 การส่งออกไทยน่าจะยังเติบโตได้ไม่มากนัก เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ มีผลต่อการขยายตัวของการส่งออกโดยรวม อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ไทยเป็นฐานการผลิตหลัก เช่น รถยนต์ และอาหารแปรรูปยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี

อย่างไรก็ดี สภาพเศรษฐกิจของยุโรปที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวจะทำให้สินค้าที่มีการส่งออกไปยุโรปในสัดส่วนที่สูง เช่น เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ จะยังคงได้รับผลกระทบต่อไป โดย SCB EIC คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 56 น่าจะมีศักยภาพขยายตัวได้ที่ 6.5%

ขณะที่นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ประเมินว่าการส่งออกปี 55 จะมีอัตราการเติบโตเพียง 4% ซึ่งการส่งออกตลอดระยะ 8-9 เดือนก่อนหน้ามีอัตราการขยายตัวติดลบต่อเนื่อง

แต่มองว่าตัวเลขการส่งออกช่วงที่เหลือของปีนี้(พ.ย.-ธ.ค.55) ซึ่งยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากกระทรวงพาณิชย์จะมีการเร่งตัวขึ้นได้รวดเร็ว โดยมีปัจจัยบวกมาจากอุปสงค์ตกค้างที่มีปัญหาจาก Global Supply Chain เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4, เศรษฐกิจบางประเทศเริ่มฟื้นตัวที่เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษ จึงเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลก, การดำเนินนโยบายเชิงรุกโดยการหาตลาดรองรับ

ด้านการนำเข้ายังคงเติบโตได้ 7-8% ซึ่งในช่วงต้นปีแรกมาจากการนำเข้าเครื่องจักรที่มาชดเชยผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 54 ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 55 ภาคการนำเข้ายังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐ

สำหรับการส่งออกในปี 56 นั้น มองค่อนข้าง Bullish กว่าสถาบันอื่นๆ เนื่องจากมองว่าสหรัฐจะผ่านสถานการณ์ภาวะหน้าผาทางการคลัง(fiscal Cliff)ไปได้ และสามารถเติบโตได้ จึงทำให้คาดว่าการส่งออกปีหน้าจะโต 11% ที่มูลค่าราว 2.54 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าจะโตได้ 12% ที่มูลค่า 2.45 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นที่ 8.9 พันล้านดอลลาร์ โดยเงินบาทจะเคลื่อนไหวในช่วง 28-30 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเกินดุลการค้าในปีหน้าจากการส่งออกที่ขยายตัวและฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและการนำเข้าที่ชะลอตัวลง ส่วนสินค้าที่เข้ามากระตุ้นให้การส่งออกเติบโตได้ดี คือ บริการท่องเที่ยว(ภาคส่งออกบริการ) อาจแตะระดับ 1 ล้านล้านบาท, สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์

ปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องระวัง คือ ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป, สถานการณ์ภาวะหน้าผาทางการคลัง (fiscal Cliff) ของสหรัฐฯ ประกอบกับเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่, ผลจากการเลือกตั้งของประเทศญี่ปุ่น เนื่องด้วยพรรคฝ่ายค้านได้กำหนดนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นมาตราการทางการคลัง หรือการขอความช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น(BOJ)ให้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยเล็กน้อย

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ยังลุ้นการส่งออกในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้(พ.ย.-ธ.ค.55) โดยหวังว่ามูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนจะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้การส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้ 4.17% คิดเป็นมูลค่าราว 2.31 แสนล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขการส่งออกที่แท้จริงของปี 55 จะออกมาเป็นไปตามนี้หรือไม่นั้นคงต้องไปรอการประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนม.ค.56

ส่วนแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 56 นั้น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้การส่งออกไทยปีหน้าเติบโตได้อย่างน้อย 8-9% ที่มูลค่าราว 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งการส่งออกของไทยในปีหน้าจะมุ่งเน้นไปยังตลาดอาเซียนและเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะอินเดียและจีน เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังมีกำลังซื้อสูง

ในขณะที่มีตลาดใหม่ที่น่าสนใจ คือ แอฟริกาใต้และตะวันออกกลาง ส่วนตลาดหลักเดิมอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯนั้นจากสภาพเศรษฐกิจของ 2 ตลาดหลักดังกล่าว มองว่าอาจจะยังไม่ฟื้นตัวเร็วนัก จึงทำให้การส่งออกปีหน้าต้องหันมาเน้นตลาดอาเซียนและในเอเชียให้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในปี 56 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการส่งออกของไทย 3 เรื่อง คือ 1.ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในยูโรโซนที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องและยังไม่มีท่าทีว่าการแก้ไขปัญหาจะสามารถยุติได้ในระยะเวลาอันสั้น 2.การเปิดเสรีการค้าที่มีมากขึ้น ประกอบกับการแข่งขันในประเทศที่มีสินค้าลักษณะคล้ายคลึงกับสินค้าส่งออกของไทยจะมีสูงขึ้น และ 3.แรงกดดันที่มีต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกรณีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 ม.ค.56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ