รมว.คลัง รับปรับโครงสร้างภาษีตามหลักความเสมอภาคทำรัฐสูญรายได้ 7 พันลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday December 22, 2012 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ระบุการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราใหม่นอกจากจะมีความสอดคล้องกับหลักความเสมอภาคตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังจะเป็นการช่วยลดภาระของผู้เสียภาษีและส่งเสริมสถาบันครอบครัว แม้รัฐจะต้องสูญเสียรายได้ไปราว 7,000 ล้านบาท

"ผู้เสียภาษีสามารถเลือกวิธีที่จะช่วยให้เสียภาษีน้อยที่สุด มีภาระภาษีน้อย และไม่ทำให้กังวลว่าจะเสียเปรียบผู้ที่ไม่มีคู่สมรส...รัฐจะสูญเสียรายได้ราว 7,000 ล้านบาท" นายกิตติรัตน์ กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนทางสถานีโทรทัศน์ NBT เช้านี้

โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของสามีภรรยาที่เกิดขึ้นในปี 2555 ซึ่งจะยื่นแบบเสียภาษีได้ต้นปี 2556 สามารถเลือกได้ 5 แบบ คือ 1.ยื่นรวมกันในนามสามี 2.ยื่นรวมกันในนามภรรยา 3.ยื่นรวมกันโดยสามีแยกยื่นเฉพาะเงินเดือน-ค่าจ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง 4.ยื่นรวมกันโดยภรรยาแยกยื่นเฉพาะเงินเดือน-ค่าจ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง และ 5.สามี-ภรรยาแยกกันยื่นเสมือนเป็นภาษีคนละหน่วย ขณะเดียวกันจะมีค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้นใน 3 รายการ คือ ค่าเลี้ยงดูบุตรคนละ 15,000 บาท, ค่าลดหย่อนการศึกษาบุตรคนละ 2,000 บาท และค่าลดหย่อนดอกเบี้ยผ่อนบ้านหลังละ 100,000 บาท จะสามารถนำไปหักลดหย่อนได้เต็มจำนวนทั้งสามีและภรรยา จากเดิมที่ต้องนำไปแบ่งกันลดหย่อนได้คนละครึ่ง

สำหรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ได้มีการปรับจากผู้มีเงินได้เสียภาษีตามขั้นบันได 5 ขั้น มาเป็น 7 ขั้น คือ 1.ผู้มีเงินได้ 0-1 แสนบาท เสียภาษีในอัตรา 5% 2.ผู้มีเงินได้ 100,001-500,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 10% 3.ผู้มีเงินได้ 500,001-1 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 20% 4.ผู้มีเงินได้ 1,000,001- 4 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 30% และ 5.ตั้งแต่ 4,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 37% แต่อัตราใหม่ที่เพิ่มเป็น 7 ขั้น คือ 1.ผู้มีเงินได้ตั้งแต่ 0-300,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 5% แต่ยังคงได้รับการยกเว้นภาษีในส่วน 1.5 แสนบาทแรก 2.ผู้มีเงินได้ 300,001-500,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 10% 3.ผู้มีเงินได้ 500,001-750,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 15% 4.ผู้มีเงินได้ตั้งแต่ 750,001-1 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 20% 5.ผู้มีเงินได้ตั้งแต่ 1,000,001-2 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 25% 6.ผู้มีเงินได้ 2,000,001-4 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 30% และ 7.ผู้มีเงินได้ 4,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 35%

"อัตราภาษีใหม่จะปรับลดช่องว่างระหว่างผู้มีรายได้มากและรายได้น้อย เพื่อดูแลผู้มีเงินได้ในทุกระดับบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เพิ่มกำลังซื้อที่ดีขึ้น และการออม" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ด้านนายสาธิต รังคศิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า อัตราภาษีใหม่จะช่วยให้คนที่มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 20,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่การจัดเก็บภาษีในปีนี้มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 24% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และภาษีธุรกิจเฉพาะขยายตัว 40-50% และในปี 2556 คาดว่าจะมีธุรกิจที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ธุรกิจประกัน ธุรกิจยานยนต์

ส่วนอัตราการเสียภาษีของคณะบุคคลใหม่จะอยู่ที่ 20% ซึ่งสอดรับกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลใหม่ เพื่ออุดช่องโหว่วของกฎหมายที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้

อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบบันได 7 ขั้น และคณะบุคคลใหม่จะเริ่มใช้ได้หลังจากผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากออกเป็น พ.ร.บ.ได้ทันปี 2556 ก็จะเริ่มใช้กับภาษีเงินได้ในปี 2556 ที่จะยื่นแบบภาษีอัตราใหม่ได้ในปี 2557


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ