แต่การส่งออกที่หดตัวและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังเป็นปัจจัยกดดัน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยช่วง 9 เดือนแรก ขยายตัว 2.6% และเมื่อปรับผลของฤดูกาล เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/55 ขยายตัว 1.2% จากไตรมาส 2/55
ส่วนแนวโน้มปี 56 ยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 5% โดยส่งออกขยายตัว 9% และยังมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากข้อจำกัดของการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง และสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ เป็นผลจากการเก็งกำไรในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่อยู่สูง
สำหรับนโยบายบริหารเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 55 และปี 56 จะดำเนินมาตรการเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพ ควบคู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายตัวเศรษฐกิจ และป้องกันความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเร่งรัดการส่งออก โดยเฉพาะตลาดส่งออกที่มีมูลค่าการส่งออกในปีนี้ที่ลดลงมาก เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และการดำเนินการตามโครงการลงทุนภาครัฐที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเร่งรัดแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่เพื่อเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้จะติดตาม เตรียมการเพื่อรองรับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท โดยจะเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้ภาคการผลิตและการส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี ส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ ส่งเสริมการลงทุนในเครื่องจักรของภาคการผลิต และเร่งรัดการนำเข้าของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ดำเนินนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแนวโน้มการแข็งค่าเงินบาท เศรษฐกิจในประเทศที่ยังอยู่ช่วงการฟื้นตัว แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน รวมถึงการปรับโครงสร้างราคาพลังงานตามแผน เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และปรับกฎระเบียบด้านการค้า การลงทุน เพื่อให้สามารถได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้า การเคลื่อนย้านเงินทุนและแรงงาน ภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ทั้งนี้ ในปี 56 จะมีการใช้เงินงบประมาณในโครงการบริหารจัดการน้ำราว 6 หมื่นล้านบาท และใช้เงินในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท จะทำให้งบลงทุนของปีงบประมาณ 56 อีก 3.3 แสนล้านบาท ทำให้งบลงทุนทั้งหมดในปี 56 อยู่ที่ 5 แสนล้านบาท และในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าไทยจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง แต่ยืนยันว่า ระดับหนี้สาธารณะจะอยู่ระดับไม่เกิน 50%ของจีดีพี และรัฐบาลจะรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด