(เพิ่มเติม1) พาณิชย์ เผยพ.ย.55 ส่งออกโต 26.86% นำเข้าโต 24.53% ขาดดุล 1.45 พันล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 26, 2012 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เผยภาวะการค้าต่างประเทศในเดือน พ.ย.55 การส่งออกมีมูลค่า 19,555.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 26.86% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,010.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.53% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,454 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่การส่งออกในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ย.55) มีมูลค่า 211,417.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 227,123.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าช่วง 11 เดือนแรก ขาดดุลรวมทั้งสิ้น 15,706 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกในเดือน พ.ย.55 คือ สภาวะเศรษฐกิจยุโรปและการลุกลามของปัญหาหนี้สาธารณะ สภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น รวมทั้งอุตสาหกรรมการส่งออกของไทยบางแห่งยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวหลังจากประสบปัญหาน้ำท่วมหนักช่วงปลายปี 54

สำหรับการส่งออกสินค้าในเดือน พ.ย.55 เพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ และหมวดสินค้าอื่นๆ แต่หมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรภาพรวมลดลง 5.9% โดยสินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ ข้าว(-3.8%) ยางพารา(-29.7%) กุ้งแช่แข็งและแปรรูป(-15.4%) น้ำตาล(-32.0%) สินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง(+24.2%) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป(ไม่รวมกุ้ง) (+15.2%) ผักและผลไม้(+3.8%) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป(+17.7%)

ส่วนหมวดสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญภาพรวมเพิ่มขึ้น 47.2% โดยสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์(+80.7%) เครื่องใช้ไฟฟ้า(+36.3%) ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ(+172.8%) เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก(+5.0%) สิ่งทอ(+7.5%) วัสดุก่อสร้าง(+111.3%) ผลิตภัณฑ์ยาง(+5.5%) เครื่องเดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า(+7.2%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน(+17.0%) สินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ(-13.2%) สิ่งพิมพ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์(-2.5%)

ขณะที่หมวดสินค้าอื่นๆ ภาพรวมเพิ่มขึ้น 8.1%

เมื่อพิจารณาแยกเป็นรายตลาดแล้วภาพรวมส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก ตลาดศักยภาพสูง และตลาดศักยภาพระดับรอง โดยตลาดหลักภาพรวมเพิ่มขึ้น 21.2% โดย ญี่ปุ่น(+13.5%) สหรัฐอเมริกา(+22.0%) สหภาพยุโรปสมาชิกเดิม 15 ประเทศ(+30.9%), ตลาดศักยภาพสูงภาพรวมเพิ่มขึ้น 28.1% โดยตลาดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน(9) (+18.6%) จีน(+32.1%) เอเชียใต้(8) (+32.6%) อินเดีย(+45.2%) ฮ่องกง(+85.2%) เกาหลีใต้(+33.4%) ตลาดที่ลดลง ได้แก่ ไต้หวัน(-5.2%), ตลาดศักยภาพระดับรอง ภาพรวมเพิ่มขึ้น 40.1% โดยทวีปออสเตรเลีย(+73.0%) ตะวันออกกลาง(+57.6%) ทวีปแอฟริกา(+42.6%) ลาตินอเมริกา(+3.8%) สหภาพยุโรปสมาชิกใหม่ 12 ประเทศ(+24.9%) รัสเซียและCIS(+30.1%) แคนาดา(+4.5%) ส่วนตลาดอื่นๆ ภาพรวมลดลง 5.8% โดยสวิตเซอร์แลนด์(-48.6%)

ส่วนการนำเข้าในเดือน พ.ย.55 หมวดสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดสินค้าทุน(+62.5%) (เครื่องจักรกล(+51.6%) เครื่องจักรไฟฟ้า(76.6%) เครื่องคอมพิวเตอร์(+71.8%)), หมวดวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป(+8.8%) (อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(+62.5%) เคมีภัณฑ์(+6.0%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์(+21.6%) ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์(+222.1%), หมวดอุปโภค/บริโภค(+35.8%)(เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน(+92.0%) เวชกรรมและเภสัชกรรม(+3.3%)), หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง(+74.7%) (ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์(+94.1%) รถยนต์นั่ง(+51.7%) รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก(+5.9%))

ขณะที่หมวดสินค้าที่ลดลง ได้แก่ หมวดเชื้อเพลิง(-7.3%) (ประเภทน้ำมันดิบ(-13.6%))

ปัจจัยที่มีผลต่อการนำเข้า มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในสินค้าเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และยานยนต์และอุปกรณ์ที่ไม่สามารถผลิตได้ หรือผลิตได้ไม่เพียงพอสำหรับการใช้ในประเทศ รวมทั้งนำเข้าสินค้าสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และสินค้ารถยนต์สำหรับแสดงในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ครั้งที่ 29


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ