ก.เกษตรฯเดินหน้าโครงการ"เกษตรกรปราดเปรื่อง"เสริมความรู้คู่การผลิตข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 26, 2012 14:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกต่อเนื่องกันยาวนานกว่า 30 ปี แต่ปัจจุบันแนวโน้มการส่งออกเริ่มเปลี่ยนไปหลังจากข้าวไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน 2558 ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีนโยบายสร้าง Smart Farmer หรือ "เกษตรกรปราดเปรื่อง" เพื่อสร้างเกษตรกรไทยให้เป็นผู้มีความรู้ในเรื่องการผลิตข้าว โดยมีส่วนราชการร่วมบูรณาการด้านวิชาการและเทคโนโลยี และจัดทำชุดข้อมูลองค์ความรู้กระบวนการผลิตข้าวของเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิต ด้านต้นทุน และด้านคุณภาพ

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกดำเนินการระหว่างธ.ค.55 - พ.ค.56 นำร่องในพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 10 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร และกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่ในโครงการจัดระบบการปลูกข้าว ส่วนระยะที่สอง ตั้งแต่มิ.ย.56 เป็นต้นไป ดำเนินการในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวตั้งแต่ 200,000 ไร่ขึ้นไปในจำนวน 50 จังหวัด(รอบการปลูกข้าวนาปี)

นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรจังหวัดละ 10 ราย โดยต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1.มีความสนใจและความพร้อมไปสู่การเป็นเกษตรปราดเปรื่องด้านการผลิตข้าว เช่น สมาชิกกลุ่มเกษตรกรดีเด่นสาขาทำนา ยุวเกษตรกร เป็นต้น 2.มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเดียวกับพื้นที่ประกวด โดยมีพื้นที่การทำนาติดต่อกัน 1 แปลง ขนาด 5 ไร่ 3.มีความรู้ด้านการผลิตข้าว โดยสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือให้คำแนะนำ ปรึกษาแก่ผู้อื่นได้ รวมถึงสามารถเป็นเกษตรกรต้นแบบ หรือจุดเรียนรู้ให้กับผู้อื่นได้

4.มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจโดยมีการวิเคราะห์ข้อมูล วางแผน บริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เข้าถึงแหล่งข้อมูลทั้งจากเจ้าหน้าที่ และระบบสารสนเทศ หรือสื่อสารอื่นๆ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 5.มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยมีการผลิตข้าวตามระบบ GAP หรือเกษตรอินทรีย์ หรือการผลิตที่ได้มาตรฐานในระบบอื่นๆ 6.มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยมีกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับจากสมาชิกชุมชน

7.มีความภูมิใจในความเป็นเกษตรกร โดยมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพทำนา รักและหวงแหนพื้นที่ทำนาไว้ให้รุ่นลูกหลานต่อไป ตลอดจนมีความพึงพอใจและมีความสุขในการประกอบอาชีพ 8.มีการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด โดยมีความสามารถในการบริหารจัดการ สร้างความเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดเพื่อให้ขายผลผลิตได้

สำหรับเกษตรกรที่ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลดังนี้ รางวัลที่ 1 ได้รับโล่และเงินรางวัล 30,000 บาท, รางวัลที่ 2 ได้รับโล่และเงินรางวัล 20,000 บาท, รางวัลที่ 3 ได้รับโล่และเงินรางวัล 15,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 7 รางวัลได้รับโล่และเงินรางวัล 5,000 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ