สศค.ปรับคาดการณ์ GDP ปี 55 โตเพิ่มเป็น 5.7% จากเดิม 5.5%,ปีหน้าโตสดใส 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 26, 2012 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า สศค.ปรับเพิ่มคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 55 เติบโตเป็น 5.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 5.5% แม้มองว่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 3.9% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่อยู่ในระดับ 4.5% แต่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนเอชกนที่ขยายตัวสูงถึง 16.1% สูงสุดในรอบ 8 ปี

ทั้งนี้ การเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ การรับจำนำข้าวเปลือก โครงการรถยนต์คันแรก โครงการบ้านหลังแรก และการทยอยปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาครัฐยังมีบทบาทในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนภาคการส่งออกชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกในบางสาขา

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะอยู่ที่ 3.0% ลดลงจากปีที่แล้วตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนแอลง ประกอบกับผลจากแนวทางการดูแลราคาน้ำมันขายปลีกของภาครัฐ

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 56 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในอัตรา 5% จากช่วงคาดการณ์ 4.5-5.5% มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่เร่งตัวสูงขึ้น และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง หลังจากที่มีการเร่งการบริโภคและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูจากวิกฤตอุทกภัยไปมากแล้วในปีก่อน

อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคครัวเรือนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการเพิ่มค่าแรงรายวันเป็น 300 บาททั่วทั้งประเทศ และโครงการรับจำนำข้าว จะช่วยส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนไม่ชะลอลงมากนัก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 56 จะอยู่ที่ระดับ 3% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.5-3.5% อุปทานน้ำมันในตลาดโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจส่งผลให้ราคาธัญพืชโลกปรับตัวสูงขึ้น

“การประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าจำเป็นต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เช่น ระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะปัญหาหน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ และความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของไทย รวมถึงความสามารถในการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายด้วย"นายสมชัย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ