อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีความแน่นอน โดย IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 56 จะขยายตัว 3.6% ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์ปี 55 ที่ 3.3% โดยเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวที่ 1.5% ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวที่ 5.6% นำโดยจีนและอินเดีย
แต่เศรษฐกิจโลกมีโอกาสที่จะขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์จากหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal cliff) ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ถ้ารัฐสภาล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ วิกฤตหนี้ยุโรปที่อาจลุกลามไปยังประเทศอื่นนอกเหนือจากกรีซ การว่างงานในระดับสูง และมาตรการรัดเข็มขัดที่หลายประเทศต้องนำมาปฎิบัติเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะยังอยู่ในภาวะถดถอยต่อไป และยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งในอิตาลีและเยอรมนีในช่วงกลางปี ที่อาจทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ เกิดความล่าช้า อีกทั้งหลายฝ่ายกำลังจับตานโยบายเศรษฐกิจจีนหลังการเปลี่ยนผู้นำคนใหม่เป็นนาย สี จิ้น ผิง ว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่
ขณะที่อุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูป ความต้องการใช้น้ำมันของโลกยังคงขยายตัว โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 56 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 90.4 ล้านบาร์เรล/วัน ปรับเพิ่มขึ้น 0.8 ล้านบาร์เรล/วันจากปี 55 โดยกว่า 45% ของความต้องการใช้ส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากภูมิภาคเอเชีย ขณะที่อีก 25% มาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่วนความต้องการใช้จากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะยุโรปจะยังหดตัว และสหรัฐฯ จะทรงตัวในระดับเดิม
อุปทานน้ำมันดิบน้ำมันดิบในปี 56 จะอยู่ในภาวะสมดุล แม้จะมีความกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านเพื่อยับยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่การผลิตน้ำมันดิบของโลกที่ปรับสูงขึ้นจะช่วยชดเชยส่วนที่ขาดหายไปนี้ได้ โดยการผลิตจากกลุ่มนอกโอเปกคาดว่าจะขยายตัวถึง 0.86 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเฉพาะจากอิรักและสหรัฐฯที่จะปรับเพิ่มขึ้น 0.57 ล้านบาร์เรล/วัน ทำให้การผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกจะยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 55 ที่ประมาณ 30.2 ล้านบาร์เรล/วัน
ปริมาณน้ำมันคงคลังทั่วโลกยกเว้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้อุปสงค์น้ำมันอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในยุโรป ส่งผลให้โรงกลั่นหลายแห่งซื้อและผลิตน้ำมันเท่าที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงการเก็บน้ำมันคงคลังในปริมาณมาก นอกจากนี้การที่โครงสร้างราคาซื้อขายน้ำมันในอนาคตสำหรับตลาดล่วงหน้ามีราคาที่ต่ำกว่าราคาปัจจุบันเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันต้องการเก็บน้ำมันคงคลังในระดับต่ำ
ประกอบกับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกในเรื่องโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ สงครามกลางเมืองในซีเรียที่เริ่มบานปลายจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศกับตุรกี ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซ่าที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างซูดานและซูดานใต้ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ และการที่กลุ่มโอเปกต้องการจะควบคุมราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหนุนราคาน้ำมันในปีหน้าไม่ให้ลดต่ำลงไปมาก
อีกทั้งฤดูกาลและภัยธรรมชาติ เป็นปัจจัยสำคัญที่ยากจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าและมักจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันในแต่ละฤดูกาลมีความผันผวนเป็นอย่างมาก เนื่องจากการผลิตและความต้องการใช้น้ำมันอาจจะหยุดชะงักลงอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นในประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก อาทิ เหตุการณ์พายุเฮอริเคนไอแซคและแซนดี้ในสหรัฐฯ ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ติดตามนโยบายการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป การบังคับใช้กฎหมายเพิ่มความเข้มงวดในการทำธุรกรรมทางการเงิน การเปิดเผยข้อมูลของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ การทำธุรกรรมอนุพันธ์โดยเฉพาะการซื้อขายนอกตลาด (Dodd-Frank Act) ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการเก็งกำไรในตลาดน้ำมัน