BOI ผ่อนผันใช้แรงงานต่างด้าวแบบขั้นบันได-ต่อเวลาลงทุน 3 จ.ชายแดนใต้ อีก 2 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 27, 2012 09:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) เห็นชอบให้ผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนออกไปอีก 2 ปี โดยจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.57 แต่จะต้องเสนอแผนลดการใช้แรงงานต่างด้าวให้บีโอไอพิจารณาภายในวันที่ 28 ก.พ.56 และหากไม่สามารถทำตามแผนจะถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ พร้อมอนุมัติขยายเวลาให้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 2 ปี โดยขยายพื้นที่ให้ส่งเสริมครอบคลุมถึงจังหวัดสตูล และพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ดบีโอไอที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน ได้พิจารณานโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายเรื่อง ซึ่งมีมติทั้งการขยายเวลาการให้ส่งเสริมออกไปอีก และมีมติให้บางมาตรการสิ้นสุดลงตามเดิมคือสิ้นปี 2555 ประกอบด้วย

เรื่องการผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะสิ้นสุดการผ่อนผันเดิมลงในวันที่ 31 ธ.ค.55 ที่ประชุมฯ มีมติว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย จึงเห็นควรให้ขยายเวลาการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือของบริษัท 101 รายที่เคยได้รับการผ่อนผันออกไปอีกไม่เกิน 2 ปี และจะเป็นการผ่อนผันครั้งสุดท้ายโดยจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.57 โดยผู้ที่จะขอผ่อนผันใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือจะต้องเสนอแผนการลดใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือแบบขั้นบันไดตามเงื่อนไขที่กำหนด และต้องเสนอแผนดังกล่าวให้บีโอไอพิจารณาภายในวันที่ 28 ก.พ.56

ทั้งนี้ ผู้ขอผ่อนผันจะต้องลดการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือร้อยละ 25 จากจำนวนแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงานทุกๆ 6 เดือน จนไม่มีการใช้แรงงานต่างด้าวตามระยะเวลาที่ให้ส่งเสริมคือ นับตั้งแต่ 1 ม.ค.58 เป็นต้นไป หากบริษัทไม่สามารถลดการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือได้ตามแผนซึ่งได้รับอนุมัติจะถูกตัดสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีนั้นๆ

เรื่องต่อมามีมติให้ขยายเวลาส่งเสริมลงทุน 3 จังหวัดชายแดนใต้อีก 2 ปี และขยายพื้นที่ครอบคลุม จ.สตูล และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา ออกไปอีก 2 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.57 ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีพื้นที่ติดกันให้ดีขึ้นตามไปได้ด้วย ทั้งในเรื่องการค้า และการจ้างงาน

โดยสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีโดยไม่จำกัดวงเงิน หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา 2 เท่า เป็นระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากกิจการที่ได้รับส่งเสริม เป็นต้น

ที่ผ่านมา มาตรการดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ค่อนข้างน้อย โดยตั้งแต่ปี 2547 — ตุลาคม 2555 มีโครงการได้รับส่งเสริมการลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 16 โครงการ เงินลงทุนรวม 2,623 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังพิจารณาเรื่องมาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย และมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนที่ประสบอุทกภัยให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องที่เสียหายจากอุทกภัย ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาให้ส่งเสริมในวันที่ 31 ธ.ค.55 โดยที่ประชุมฯ มีความเห็นให้มาตรการดังกล่าวสิ้นสุดตามระยะเวลาที่กำหนด คือ 31 ธ.ค.55 เนื่องจากมีบริษัทที่ได้รับผลกระทบยื่นขอรับส่งเสริมและได้รับอนุมัติเป็นจำนวนมาก อีกทั้งกิจการที่ประสบอุทกภัยก็ได้ฟื้นตัวจนน่าพอใจ ส่วนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมให้นำเข้าเครื่องจักรมาทดแทนเครื่องที่เสียหายก็สามารถดำเนินการผลิตได้หมดแล้ว

สำหรับสถิติการให้ส่งเสริมตามมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย มาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัยมีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 190 โครงการ เงินลงทุนรวม 139,819 ล้านบาท และมีผู้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมแล้วจำนวน 127 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 77,617 ล้านบาท ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนที่ประสบอุทกภัยให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องที่เสียหายจากอุทกภัย มีผู้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมจำนวน 475 โครงการ มูลค่าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องที่เสียหาย 108,878 ล้านบาท

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเรื่องการขยายเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับแม่พิมพ์ ซึ่งตามกำหนดเดิมจะสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นในวันที่ 31 ธ.ค.55 โดยที่ประชุมฯ เห็นว่า ปัจจุบันแม้อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในประเทศไทยจะมีการยกระดับมากขึ้น แต่การผลิตแม่พิมพ์เป็นงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ขณะที่การผลิตแม่พิมพ์ในประเทศยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้ทั้งหมด และยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าอยู่ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อการผลิต

นอกจากนี้ อัตราอากรขาเข้าสำหรับแม่พิมพ์บางรายการยังสูงถึงร้อยละ 10 ที่ประชุมฯ จึงเห็นควรให้ขยายเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับแม่พิมพ์เป็นเวลา 1 ปี จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.56 เฉพาะรายการที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ

สำหรับมาตรการอื่นๆ ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาให้ส่งเสริมในวันที่ 31 ธ.ค.55 เช่นกัน ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.56 โดยกำหนดว่า หากเป็นโครงการลงทุนใหม่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขเดิม หากเป็นการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงานหรือการใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ร้อยละ 50 ของมูลค่าเงินลงทุนไม่รวมที่ดินและทุนหมุนเวียน จากเดิมที่เคยได้รับยกเว้นร้อยละ 70-100

ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่ได้รับส่งเสริมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี หรือสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.56


แท็ก บีโอไอ   ก.พ.   BOI  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ