ในขณะที่ งบประมาณจะเข้าสู่ภาวะสมดุลในปี 60 จากปีงบประมาณ 56 ที่งบประมาณขาดดุล 3 แสนล้านบาท
สำหรับการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท คาดว่าจะสามารถกู้เงินได้ในช่วงไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 57 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำร่างเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมหน้า
โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน น่าจะเน้นการลงทุนระบบรางมากที่สุด เนื่องจากจะช่วยในเรื่องระบบโลจิสติกส์ ซึ่งไทยมีต้นทุนสูงถึง 15%ในปัจจุบัน
ขณะที่การกู้เงินตามพ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ได้มีการกู้เงินแล้ว 1 หมื่นล้านบาท เหลือการระดมทุนอีก 3.4 แสนล้านบาท ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในมิ.ย. 56 ซึ่งการระดมเงินขึ้นกับภาวะตลาด รวมถึงโครงการต่างๆ และมีความเป็นไปได้ที่จะระดมทุนในต่างประเทศ
ด้านนายสุวิชญ โรจนวานิช รองผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า รัฐบาลลาวได้ยื่นขอรัฐบาลไทยเพื่อระดมทุนโดยการออกพันธบัตรสกุลเงินบาทในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ยื่นขอออกพันธบัตรสกุลเงินบาท วงเงิน 1.5 พันล้านบาท เพื่อนำไปใช้ลงทุนสร้างเขื่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งจะมีการพิจารณาช่วงต้นปี 56 และหากได้รับการอนุมัติจากทางการไทยแล้ว ลาวจะออกพันธบัตรภายใน 6 เดือน ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลาวอยู่ในระดับต่ำกว่าอินเวสเม้นท์เกรด ดังนั้นคาดว่าจะเป็นการขายให้กับนักลงทุนสถาบัน ส่วนอัตราดอกเบี้ยคาดอยู่ที่ LIBOR บวก 1.00%
"เราอยากให้ประเทศลาวมีโครงการที่เป็นเจ้าของเอง แต่ลาวไม่มีเม็ดเงิน เราจึงอยากเข้าไปช่วยเหลือ" นายสุวิชญกล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงเดือน ม.ค.56 สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ จะเข้ามาเก็บข้อมูลประเทศไทย หลังจากก่อนหน้านี้บริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง ได้มีการเก็บข้อมูลแล้วและคาดว่าจะมีการรายงานผลข่วงเดือน ก.พ. 56 ส่วนสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือแสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส หรือ เอสแอนด์พี ได้คงเครดิตประเทศไทย เนื่องจากความกังวลทางการเมือง ซึ่งยังมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง รัฐบาลไทยเข้มแข็ง