ทั้งนี้ กลุ่มกิจการที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูงสุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ และสาธารณูปโภค มียื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 601 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 373,823 ล้านบาท รองมาเป็นผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ 544 โครงการ เงินลงทุน 239,642 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี กระดาษ และพลาสติก 281 โครงการ เงินลงทุน 204,026 ล้านบาท และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 324 โครงการ เงินลงทุน 146,803 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 280 โครงการ เงินลงทุน 76,300 ล้านบาท
ส่วนกิจการขนาดใหญ่ที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่เป็น กิจการขนส่งทางอากาศ ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทดแทน ศูนย์กระจายสินค้า เป็นต้น
ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า แม้สถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว จะยังไม่ใช่สถิติครบถ้วนทั้งปี 2555 เพราะเป็นการรวบรวมคำขอรับส่งเสริมตั้งแต่ 1 มกราคม — 20 ธันวาคม 2555 แต่ก็มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของไทย ในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุน และการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปลายปี 2558
อย่างไรก็ตาม บีโอไอกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่มีประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด ดังนั้น เป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนในปี 2556 และในอนาคต ก็จะมุ่งเน้นคุณค่าและคุณประโยชน์จากการลงทุนที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศมากกว่าการมุ่งเน้นเรื่องจำนวนโครงการ หรือมูลค่าเงินลงทุนสูงๆ