ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มสูงตามการลงทุนภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 28, 2012 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ความต้องการระดมเงินจากรัฐสำหรับใช้จ่ายตามโครงการต่างๆ คงมีผลไม่มากก็น้อยต่อภาวะสภาพคล่องในระบบการเงินและต้นทุนทางการเงิน นอกเหนือไปจากระดับหนี้สาธารณะและสัดส่วนต่อจีดีพีที่ถูกคาดหมายว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากที่อยู่ที่ราว 44% ณ สิ้นปีงบประมาณ 2555 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

ในปี 56 นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ ที่คงจะมีผลต่อประเด็นด้านเสถียรภาพและความต่อเนื่องของบทบาทภาครัฐที่ควรต้องจับตาแล้ว นโยบายรัฐที่เชื่อมโยงกับประเด็นด้านเศรษฐกิจ จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปี 2556 ผ่านการดำเนินมาตรการด้านต่างๆ อาทิ การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ/ค่าตอบแทนข้าราชการ การคืนเงินรถยนต์คันแรก/บ้านหลังแรก และการดูแลราคาพลังงาน ซึ่งมีขนาดวงเงินกระตุ้นสู่ระบบเศรษฐกิจรวมกันประมาณ 6.7 แสนล้านบาท ที่แม้จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง

โดยในปี 2556 มาตรการรัฐส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การลดภาระให้กับผู้เสียภาษี ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล (ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่อง) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตลอดจนหลายๆ มาตรการที่เน้นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน สานต่อการดำเนินการในปี 2555 ไม่ว่าจะเป็น การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ/ค่าตอบแทนข้าราชการ และโครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น

ผลสุทธิในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในปี 2556 นั้น อาจถูกลดทอนบางส่วนลงด้วยภาวะค่าครองชีพที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และ/หรือภาระหนี้สะสมเดิม เช่นเดียวกับผู้ประกอบการธุรกิจหลายแห่งที่ยังจำเป็นต้องประคองฐานะการดำเนินงานในสถานการณ์ที่ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้น ยิ่งในจังหวะที่รัฐบาลมีแนวโน้มจะปรับโครงสร้างราคาพลังงาน รวมถึงมีข้อเสนอสำหรับการพิจารณาจัดเก็บภาษีโทรคมนาคม สำหรับผลต่อรายได้รัฐบาล คาดว่ารัฐคงจะได้มีการประเมินผลกระทบจากการเดินหน้ามาตรการเหล่านี้ไว้บ้างแล้วในระดับหนึ่ง กระนั้น ผลสุทธิคงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีทั้งระบบ แนวทางการขยายฐานภาษี รวมทั้งผลบวกทางอ้อมจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ถูกกระตุ้นให้ขยายตัว อันจะแปลงกลับมาเป็นรายได้รัฐบาลในระยะต่อไป

นอกเหนือจากมาตรการต่างๆ ข้างต้นแล้ว ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญจากฝั่งการใช้จ่ายของรัฐบาล ที่หากสามารถเกิดขึ้นได้ตามกำหนดเวลาที่วางไว้ ก็น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งยังอาจมีส่วนในการสนับสนุนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง โลจิสติกส์ และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ การใช้จ่ายดังกล่าว ครอบคลุมการใช้เงินงบประมาณประจำปี จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท (รัฐตั้งเป้าอัตราการเบิกจ่ายสูงกว่าปีงบประมาณ 2555) และการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ ราว 3.4 แสนล้านบาทภายในครึ่งปีแรก ซึ่งคงเริ่มเห็นความก้าวหน้าในด้านการลงทุนขนาดใหญ่ที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าในปี 2555 ที่ผ่านมา ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะมีการออกกฎหมายอีก 2 ฉบับ เพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ คือ 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือร่างกฎหมาย PPP (Public-Private Partnership) โดยขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งแรกของปี 2556 รวมทั้ง 2.ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว ที่เตรียมจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

"รัฐบาลจะยังคงมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องจากในปี 2555 ผ่านการดำเนินมาตรการด้านต่างๆ รวมถึงการใช้จ่ายผ่านเงินงบประมาณและภายใต้กฎหมายพิเศษ ซึ่งคงมีส่วนในการสนับสนุนกิจกรรมการใช้จ่ายในประเทศโดยเฉพาะในภาคส่วนหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง และเมื่อผนวกกับการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะยังคงรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้ใกล้เคียงกับในปี 2555 ที่ 5.0%"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ