สศก.มองราคายาง-ปาล์ม-น้ำตาลปี 56 ทรงตัว-สูงขึ้นจากปี 55 เล็กน้อย, ข้าวยังเผชิญความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 2, 2013 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล ไข่ไก่ ในปี 56 ส่วนใหญ่ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ราคาทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นจากปี 55 เพียงเล็กน้อย ขณะที่ข้าวมองว่าราคายังสูงจากนโยบายรับจำนำ ทำให้ไทยต้องเผชิญความท้าทายของการแข่งขันในปีมะเส็ง

*ยางพารา

สศก.คาดว่าผลผลิตยางพาราโลกปี 56 มีประมาณ 11.60 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 55 เนื่องจากประเทศผู้ผลิตต่างขยายเนื้อที่ปลูกได้ทยอยเปิดกรีดยางเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเกษตรกรดูแลรักษาต้นยางเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต ด้านความต้องใช้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของจีนและอินเดีย อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงถดถอยอาจกดดันความต้องการใช้บ้างเล็กน้อย

สถานการณ์ราคา คาดว่าราคายางในตลาดโลกจะทรงตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา จากการที่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะกระเตื้องขึ้น, 3 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ คือ ไทย อินโดนีเซียและมาเลเซีย ร่วมมือกันรักษาเสถียรภาพราคายาง

หันมาดูด้านการส่งออกยางพาราของไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย จากการที่จีนและอินเดียจะนำเข้ายางจากไทยมากยิ่งขึ้น ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก

ปัจจัยกระทบต่อการส่งออกยางพารา ได้แก่ กรณีพิพาทระหว่างจีนและญี่ปุ่นเดี่ยวกับหมูเกาะเตียวหยู(เซนกากุ)ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นในจีน อาจทำให้การส่งออกยางพาราไปจีนเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก นอกจากนี้ ราคายางพาราของไทยอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อยางพาราจากประเทศคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

*ปาล์มน้ำมัน

กระทรวงเกษตรสหรัฐ คาดการณ์ผลผลิตน้ำมันปาล์มปี 56 จะอยู่ที่ 53.33 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 50.70 ล้านตันในปี 55 หรือคิดเป็น 5.19% เนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซียขยายเนื้อที่เพาะปลูกมากขึ้น ส่วนไทย คาดว่าพื้นที่ปลูกปาล์ม 4.11 ล้านไร่ มีผลผลิตต่อไร่ 2,925 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจาก 2,844 กิโลกรัมในปี 55 เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่ปลูกในปี 51-53 เริ่มให้ผลผลิต ประกอบ เกษตรกรดูแลรักษาต้นปาล์มสม่ำเสมอและสภาพดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวย

สถานการณ์ราคา คาดว่าปี 56 ราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มจะใกล้เคียงกับปี 55 คือราคาผลปาล์มสดไม่ต่ำกว่า 4.00 บาท หลังรัฐบาลประกาศรับซื้อราคาผลปาล์มจากเกษตรกรในราคา 4.00 บาท/กก.สำหรับเปอร์เซนต์น้ำมัน 17% และ รับซื้อราคา 4.35 บาท/กก.สำหรับเปอร์เซนต์น้ำมัน 18% ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลกที่กิโลกรัมละ 25.00-26.00 บาท

ด้านการส่งออกของไทย อาจจะติดขัดเนื่องจากการเก็บภาษีการส่งออกที่ 10 บาท/กิโลกรัม และไทยจะส่งออกต่อเมื่อผลผลิตมีปริมาณมากพอ ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มในประเทศ

*น้ำตาล

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ประมาณการผลผลิตน้ำตาลทรายดิบของโลกปี 55/56 ที่ 174.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 170.97 ล้านตันในปี 54/55 เนื่องจากหลายประเทศผู้ผลิตสำคัญ ได้แก่ บราซิล อินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ออสเตรเลีย และปากีสถานมีผลผลิตมากขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคของโลกจะอยู่ที่ 163.01 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 160.20 ล้านตันในปี 54/55 โดยคาดว่าความต้องการของอินเดีย จีน บราซิล สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินโดนีเซีย ปากีสถานและอียิปต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

การผลิตน้ำตาลของไทยในปี 55/56 คาดว่าจะอยู่ที่ 9.98 ล้านตัน ลดลงจาก 10.25 ล้านตันในปี 54/55 ส่วนกากน้ำตาล คาดว่าจะมีปริมาณ 4.40 ล้านตัน ส่วนสถานการณ์ราคาจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการบริโภคในตลาดโลกยังดีอย่างต่อเนื่อง

*ไข่ไก่

สศก.คาดการณ์ผลผลิตไข่ไก่ของไทยปี 56 ที่ 11,360 ล้านฟอง เพิ่มขึ้นจาก 11,022 ล้านฟองในปี 55 เป็นผลจากการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 53 ทำให้ยังมีปริมาณพันธุ์ไก่ไข่ในระบบอยู่มาก ถึงแม้ว่าผู้นำเข้าไก่พันธุ์จะมีการปรับการผลิตตามสถานการณ์โดยการลดการนำเข้าจากแผนที่ขอไว้ แต่การนำเข้าที่ลดลงในช่วงปี 55 จะส่งผลในช่วงปลายปี 56-57

สถานการณ์ราคาไข่ไก่ปี 56 มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกร สหกรณ์ ภาคเอกชน ได้เริ่มมีการปรับตัวในการวางแผนการผลิตที่รัดกุมขึ้น และมีการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า เป็นไปตามการคาดการณ์ของอธิบดีกรมการค้าภายในที่มองว่าราคาไข่ไก่จะลงต่อเนื่องไปจนถึงกลางปีนี้ เนื่องจากผลผลิตไข่ไก่กำลังจะออกมาเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีปริมาณไข่ไก่เกินความต้องการราววันละ 3 ล้านฟอง จากผลผลิตต่อวันอยู่ที่ 31 ล้านฟอง ขณะที่ความต้องการบริโภคอยู่ที่ 28 ล้านฟอง

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจะทำให้แม่ไก่ออกไข่ได้น้อยลง แต่คงลดลงไม่มากนัก เพราะประเทศไทยได้เปิดเสรีนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่ ดังนั้น หลังสงกรานต์จะมีการหารือกับทางนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เพื่อร่วมกันหาทางออกเรื่องปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำต่อไป

*ข้าว

สศก.ประเมินผลผลิตข้าวนาปี 55/56 ณ เดือน ก.ย.55 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.72 ล้านไร่ ผลผลิต 26.19 ล้านตันก ผลผลิตต่อไร่ 424 กิโลกรัม คาดว่าผลผลิตจะออกมากในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.55 ประมาณ 20.106 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 76.78 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

ส่วนข้าวนาปรังปี 56 คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือน ก.พ.56 และจะเก็บเกี่ยวมากในเดือน เม.ย.-พ.ค.56

สถานการณ์ส่งออก คาดว่าปี 56 ไทยจะส่งออกประมาณ 8.0-8.5 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 55 ร้อยละ 23.08 จากการสนับสนุนของรัฐบาลในการกำหนดแผนขยายตลาดส่งออกข้าวที่มุ่งแสวงหาตลาดใหม่ๆ เช่น แอฟริกา อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง รวมทั้งการเร่งผลักดันการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายประเทศแสดงความสนใจนำเข้าข้าวจากไทย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกา

ด้านราคาแนวโน้มปี 56 คาดว่าจะสูงใกล้เคียงกับปี 55 เนื่องจากความต้องการข้าวของโลกยังคงมีมาก ประกอบกับนโยบายรับจำนำข้าวของภาครัฐที่กำหนดราคาสูงนำตลาด แต่ขณะที่ราคาส่งออกข้าวไทยจะยังสูงกว่าคู่แข่ง เช่น อินเดีย เวียดนามค่อนข้างมาก ผลจากนโยบายโครงการรับจำนำข้าวของภาครัฐที่กำหนดราคารับจำนำสูงนำตลาด ข้าวหอมมะลิ ราคาตันละ 20,000 บาท และข้าวขาวราคาตันละ 15,000 บาท ทำให้ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ไทยไม่สามารถแข่งขันการส่งออกข้าวในตลาดโลกได้ เพราะอินเดียขายข้าวราคาต่ำ ขณะที่เวียดนามลดราคาส่งออกข้าวลงเพื่อให้แข่งขันกับอินเดียและปากีสถานได้

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดว่าข้าวไทยต้องเผชิญการแข่งขันในปี 56 ทวีความรุนแรงมากกว่าปี 55 ขณะที่โครงการรับจำนำรัฐบาล 1.5 หมื่นบาท/ตัน แปลงเป็นราคาข้าวสารส่งออกเอฟโอบีที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาขายข้าวขาว 5% ของไทย ณ ปลายเดือน ธ.ค.อยู่เฉลี่ย 585 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน

ที่น่าห่วงคือเกรงว่ารัฐบาลไทยจะดัมพ์ราคาขายเพื่อระบายสต๊อก หลังจากล่าสุดเวียดนามปรับลดราคาข้าวขาว 5% มาอยู่ที่ระดับ 405-410 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน แต่หากไทยไม่เทสต๊อกเก่าออกมาอนาคตส่งออกก็คงไม่ต่างจากปีนี้ และคงถูกแขวน เพราะราคาสูงกว่าชาวบ้านมาก นอกจากนี้ยังมีพม่าเป็นคู่แข่งที่มาแรง ผลผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และราคาข้าวขาว 5% เพียง 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ถูกกว่าเวียดนามและอินเดียที่ขายประมาณ 420-430 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ