นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธาน กกพ. กล่าวว่า ได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาวะเศรษฐกิจ และไม่ต้องการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจึงเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นในอัตราดังกล่าว จากเดิมที่หน่วยงานผลิตไฟฟ้าเสนอปรับขึ้นมาในอัตรา 13.57 สตางค์ต่อหน่วย โดยต้นทุนที่มีภาระในส่วนนี้ได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร่วมรับภาระแทนประชาชนเป็นการชั่วคราวไปก่อนซึ่งคิดเป็นเงิน 5,131 ล้านบาท
นายดิเรก กล่าวว่า ต้นทุนค่า Ft ที่ปรับขึ้นงวดนี้เกิดจากต้นทุนค้างจ่ายของประชาชนที่ กฟผ.แบกรับภาระไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่การลดค่าไฟฟ้าช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปี 54 จนถึงต้นปี 55 โดยช่วงนั้น กฟผ.แบกรับภาระกว่า 10,000 ล้านบาท และทาง กกพ.พิจารณาเกลี่ยต้นทุนภาระดังกล่าวคืนแก่ กฟผ.จนทำให้เหลือภาระที่ต้องแบกรับไว้เพียง 5,131 ล้านบาท และจะมีการเกลี่ยคืนอย่างต่อเนื่องโดยงวดหน้าเหลืออีกประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งมีผลทำให้คาดว่าค่าไฟฟ้างวดต่อไปยังปรับเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังเกิดจากประเทศพม่าจะหยุดจ่ายก๊าซชั่วคราวประมาณเดือน ก.พ.และเดือน เม.ย.นี้ ทำให้ต้องมีการใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติต้นทุนจึงขยับสูงขึ้นท่ามกลางการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และยังเป็นผลมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ทรงตัวระดับสูง แต่ต้นทุนงวดนี้ต่ำกว่างวดที่แล้ว โดยต้นทุนก๊าซอยู่ที่ประมาณ 307-317 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงจากงวดที่แล้วที่อยู่ประมาณ 308-324 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันย้อนหลังที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้คำนวณงวดนี้เท่ากับ 30.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าการใช้ไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 4.1
ทั้งนี้ กกพ.จะนำรายละเอียดทั้งหมดเผยแพร่ผ่าน www.erc.or.th เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวันที่ 2-8 ม.ค.นี้ ก่อนนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาพิจารณาและประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตั้งแต่งวดนี้เป็นต้นไป