ทั้งนี้ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนม.ค.56 อาจไต่ระดับขึ้นไม่เกินร้อยละ 0.5 จากเดือนธ.ค.55 เพราะกระบวนการส่งผ่านภาระต้นทุนของภาคธุรกิจมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภคหลายประเภทน่าจะต้องมีขั้นตอนการอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์
อนึ่ง วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) เดือน ธ.ค.55 อยู่ที่ 116.86 เพิ่มขึ้น 3.63% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.55 เพิ่มขึ้น 0.39% ส่งผลให้ CPI เฉลี่ยทั้งปี 55 เพิ่มขึ้น 3.02% จากปีก่อน
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือน ธ.ค.55 อยู่ที่ 108.88 เพิ่มขึ้น 1.78% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.55 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ยทั้งปี 55 เพิ่มขึ้น 2.09% จากปีก่อน
แม้ว่าแรงกดันเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.55 ล่าสุดจะสูงกว่าที่คาด แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองต่อตัวแปรที่อาจมีผลต่อเงินเฟ้อในปี 56 เช่นเดิม เหตุนี้จึงยังคงประมาณการสำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 ไว้ที่ร้อยละ 3.0-3.6 (มีค่ากลางที่ร้อยละ 3.3 สูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยร้อยละ 3.02 ในปี 55) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีค่าเฉลี่ยอยู่ในกรอบร้อยละ 2.2-2.8 (มีค่ากลางที่ร้อยละ 2.4 ขยับขึ้นจากร้อยละ 2.09 ในปี 55)
ศูนย์วิจัยกสิกร ระบุว่า แม้แรงกดดันเงินเฟ้อไทยอาจทยอยขยับขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่ก็ยังไม่น่าจะเพิ่มน้ำหนักให้กับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพราคาสำหรับการพิจารณานโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดังนั้นเครือธนาคารกสิกรไทยจึงคาดว่า ธปท.น่าจะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบแรกของปีในวันที่ 9 ม.ค.56 นี้ ไว้ที่ร้อยละ 2.75 ตามเดิม