"ในระยะสั้น จะหวังสหรัฐฯ เป็นกลจักรทางเศรษฐกิจของโลกคงจะไม่ได้ ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องมีหน้าที่ในการดูแลความพร้อมของประเทศตัวเองด้วย"นายกิตติรัตน์ กล่าว
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 56 มองว่ายังมีเสถียรภาพ และยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง หรืออาจเติบโตได้ดีกว่าปี 55 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)คาดว่าเติบโตราว 5.5% แต่จะต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เกิดความผันผวนมาก
พร้อมเชื่อว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะถือว่าเป็นปีที่มีศักยภาพอีกปี และรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ เกิดความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยยังเชื่อว่าเศรษฐกิจปีนี้ควรจะดีเท่ากันหรือดีกว่าในปี 55 ซึ่งคาดว่าจะโตได้เกิน 5% โดยในปีนี้จะเน้นการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศเป็นโจทย์หลัก ตามด้วยการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งต้นปีนี้จะตรงกับไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 56 ที่ขณะนี้ถือว่ามีความพร้อมในส่วนของงบลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่ควรจะมีความต่อเนื่อง
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในปี 56 อยากเห็นความมีเสถียรภาพในส่วนนโยบายการเงิน ทั้งในส่วนอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย ไม่ต้องการเห็นความผันผวนที่มากจนเกินไป
"อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย ควรมีความราบเรียบและราบรื่น ถือว่าการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี" นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ ระบุด้วยว่า การท่องเที่ยวในปีนี้น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยปี 55 มีจำนวนสูงถึง 21.5 ล้านคน เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ถึง 20 ล้านคน ดังนั้น รัฐบาลอาจจะมีการทบทวนเป้าหมายนักท่องเที่ยวสำหรับปี 56 อีกครั้ง จากก่อนหน้านี้ที่ตั้งไว้ 22.5 ล้านคน
ส่วนภาคการส่งออกนั้น เชื่อว่าปีที่ผ่านมาภาพรวมการส่งออกไทยคงไม่ถึงกับติดลบ และขอรอดูตัวเลขในเดือนธ.ค.55 ก่อน ขณะที่สถานการณ์ในปี 56 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกขยายตัวราว 9% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม มองว่าปี 56 คงไม่สามารถพึ่งภาคส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย
ภาพรวมอัตราการว่างงานของปี 55 อยู่ที่ มีอัตราการว่างงานที่ 0.6% เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับ 1.88 แสนล้านบาทถือว่ายังมีเสถียรภาพที่ดีมาก ขณะที่ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพที่ดีพอสมควร
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า ในปีนี้จำเป็นต้องติดตามมาตรการการจ้างงาน และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งความกังวลของผู้ประกอบการนั้นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้หารือถึงมาตรการสำหรับบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการไว้แล้ว
ดังนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังจะนำมาตรการที่ได้หารือกับภาคธุรกิจและมีข้อตกลงกันไว้กว่า 10 มาตรการเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.โดยเชื่อว่า ครม.น่าจะให้ความเห็นชอบ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้