นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าผู้ผลิตประมาณ 40 รายปิดโรงงานไปแล้ว โดยเฉพาะ 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากจากการขึ้นค่าแรงมากที่สุดคือ สิ่งทอและอาหารแช่เยือกแข็ง เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานมากที่สุด ซึ่งลำพังผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในต่างประเทศก็บั่นทอนอยู่แล้ว การขึ้นค่าแรง 300 บาทยังมาซ้ำเติมอีก
ทั้งนี้ การเลิกจ้างงานก็จะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้กับระบบเศรษฐกิจ เพราะคาดว่าจะมีผู้ตกงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาระสังคม กระทบภาคการผลิตและส่งออก ตัวเลขเศรษฐกิจอาจจะหายไป โดยประมาณการมูลค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทประมาณ 0.5% ของจีดีพีที่เฉลี่ยเติบโตราว 5% ต่อปี
"ลูกจ้างแรงงาน เฉพาะที่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และอาหารแช่เยือกแข็งซึ่งมีรวมกันประมาณ 2 แสนคนอาจจะต้องเผชิญภาวะตกงานประมาณ 10-20% แต่ต้องมองเลยไปถึงครอบครัวของแรงงานเหล่านี้ แม้จะมีกฎหมายแรงงานรองรับ แต่ก็คงเทียบไม่ได้กับการมีงานทำมีรายได้สม่ำเสมอ ซึ่งถ้าเลิกจ้างผู้ประกอบการก็ต้องเตรียมอีกก้อนหนึ่งไว้จ่ายชดเชยจากการเลิกจ้างงาน" นายพรศิลป์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายพรศิลป์ กล่าวต่อว่า กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเริ่มทยอยปิดโรงงานย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และพม่ามานานแล้ว เพื่อรับประโยชน์จากค่าแรงที่ถูกกว่าประมาณกว่าร้อยบาทต่อวัน และยังได้สิทธิทางภาษีศุลกากรจากยุโรป ขณะที่สินค้าที่ส่งจากไทยต้องเสียภาษีนำเข้า 8% คาดว่าตลอดปีนี้จะได้เห็นการทยอยย้ายฐานการผลิตของเอสเอ็มอีไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง
นายพรศิลป์ เสนอแนะว่า การใช้นโยบายดังกล่าวควรทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น step เนื่องจากนโยบายที่ออกมานี้จะปรับขึ้นค่าแรงปีนี้ และจะหยุดไปอีก 2 ปี เท่ากับว่าประเทศไทยจะใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนี้ต่อไปอีก 3 ปี ดังนั้นควรจะปรับปีละ 30% จนชนเพดานที่ 300 บาท เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระของภาคธุรกิจ และปรับตัวได้ง่ายขึ้นด้วย
"นโยบายขึ้นค่าแรงดังกล่าว เป็นนโยบายที่ดีเหมือนกับนโยบายประชานิยมอื่นๆ แต่วิธีการแย่...ทำแบบนี้เหมือนใช้นโยบายรัฐมาบังคับธุรกิจให้ทำตาม"นายพรศิลป์ กล่าว
นายพรศิลป์ แสดงความเป็นห่วงต่อเรื่องดังกล่าวว่า หากยังไม่มีมาตรการ หรือนโยบายในการดูแลระยะยาวจะทำให้ไม่พร้อมสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเริ่มขึ้นในอีก 2 ปี
สำหรับมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 27 ข้อที่เอกชนเสนอต่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังไปนั้น ขณะนี้สรุปเหลือเพียง 10 ข้อ เช่น การชำระจ่ายเข้ากองทุนลดลง ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 2% ฯลฯ
นายพรศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการเหล่านี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งจริงๆ มองว่าช้าไป เพราะผลกระทบเกิดขึ้นตั้งแต่นาทีแรกที่รัฐบาลประกาศนโยบายนี้ออกมา เผลอๆ ยังต้องลุ้นอีกว่า 10 ข้อที่เสนอไปจะได้รับการพิจารณาทุกข้อหรือไม่ หากตัดสินใจออกมาตรการมาก่อนหน้านี้ประมาณ 2-3 เดือน ภาคเอกชนก็คงจะสามารถวางแผนธุรกิจเพื่อรับมือได้
"ถ้าเราไม่รีบทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย วิธีการในการดูแลภาคธุรกิจ หรือมาตรการบีโอไอให้มีการใช้แรงงานเพิ่มขึ้น ไม่มีการจัดการห่วงโซ่การผลิต เราพูดกันเยอะมาก แต่ไม่ทำ มัวแต่มุ่งการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ ผมมั่นใจว่าอีก 2 ปี จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราไม่พร้อมแน่ๆ อีก 2 ปีเราก็ยังอยู่ที่เดิม รัฐบาลนี้ใช้นโยบายประชานิยม แต่นโยบายดูแลเศรษฐกิจระยะยาวไม่เห็นเลยนะครับ เราเสียโอกาสมา 15 ปีแล้วตั้งแต่ฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540...เพราะฉะนั้น มั่นใจว่าอีก 2 ปี AEC จะเปิดเราก็ยังอยู่ที่เดิมนี่แหละ"นายพรศิลป์ กล่าว