ขณะเดียวกัน ในภาคปฏิบัติในระดับพื้นที่ซึ่งจะเป็นผู้ส่งเสริมการผลิตนั้น เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ต้องรู้ด้วยว่าในพื้นที่รับผิดชอบมีสินค้าอะไรและจะออกเมื่อไหร่ รูปแบบของการส่งเสริมการเกษตรต้องปรับใหม่ โดยต้องดูเรื่องการตลาดนำเรื่องการผลิตในพื้นที่ด้วยไม่ใช่รอจนสินค้าออกสู่ตลาด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตรเช่นที่ผ่านมา จึงอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ เป็นเพียงแค่ผู้สนับสนุนไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นว่า ผลผลิตจะออก ช่วงไหน เท่าไหร่ ที่ไหน มีปัญหาอย่างไร
นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปรับช่วงเวลาการรายงานดัชนีสินค้าเกษตรรายเดือน โดยให้มีการวิเคราะห์ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์แรกของเดือน เช่นเดียวกับสภาพัฒน์ TDRI และกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ข้อมูล 3 สัปดาห์แรกของเดือนนั้นบวกกับข้อมูลสัปดาห์สุดท้ายของเดือนก่อนหน้า หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือ ใช้ข้อมูล 3 สัปดาห์แรกบวกกับข้อมูลคาดคะเนของสัปดาห์ต่อไป ซึ่งอาจจะให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากขึ้น ที่จะสามารถให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรเองได้ทราบข้อมูลราคาและการผลิตสินค้าเกษตรแบบรายเดือนอย่างทันต่อสถานการณ์
นายยุคล กล่าวว่า นอกจากข้อมูลปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตรรายปี และดัชนีสินค้าเกษตรรายเดือนแล้ว ยังได้มอบหมายให้ สศก. ช่วยผลักดันเรื่องสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ ให้ชัดเจนในปีนี้ให้ได้ โดย สศก. จะเป็นฐานในการสนับสนุนข้อมูลทั้งหมดด้านการเกษตร โดยมีศูนย์สารสนเทศของกระทรวงฯ เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลกับ สศก. เพื่อกระจายข้อมูลไปสู่จังหวัด โดยในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้หารือกับ กระทรวง ICT ซึ่งมีศูนย์ ICT ชุมชน 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นฐานกระจายความรู้เข้าไปในพื้นที่ เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม คือ ทำรายได้ของเกษตรกรเท่ากับหรือมากกว่าค่าแรงงานขั้นต่ำหรือเงินเดือนวุฒิปริญญาตรี คือ หมื่นห้าพันบาทต่อเดือนขึ้นไป