(เพิ่มเติม) ก.พลังงาน คาดปี 56 ปริมาณใช้ก๊าซธรรมชาติโต 10%มาที่ 5 พันล้าน ลบ.ฟ./วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 7, 2013 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดการณ์ว่า ในปีนี้การใช้ก๊าซธรรมชาติ จะเพิ่มขึ้น 10% หรือมีการใช้รวม ประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยจะเป็นก๊าซจากอ่าวไทยประมาณ 3,800 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วัน และพม่า 1,200 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วัน โดยคาดว่าจะรักษาระดับการผลิตในอ่าวไทยในระดับนี้ได้เพียง 5 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นอัตราการผลิตจะลดลง เนื่องจากไม่มีแหล่งก๊าซฯ ขนาดใหญ่ในอ่าวไทยเพิ่มเติมเข้ามา

โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังดูภาพรวมในเรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่จะลดลงไม่ให้เกิดปัญหาในการผลิตไฟฟ้าและปิโตรเคมี ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชนทั้งประเทศ โดยแนวทางเบื้องต้นจะต้องมีการน่ำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศมาทดแทน ซึ่งขณะนี้ ปตท.กำลังขยายคลังรับจ่ายแอลเอ็นจี จาก 5 ล้านตัน เป็น 10 ล้านตันต่อปี

ขณะเดียวกัน เพื่อยังคงรักษาระดับการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยให้ได้นานที่สุด ทางกระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะทำงานแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อให้สามารถพัฒนาสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมแหล่งเดิมของกลุ่มเชฟรอน และ ปตท.สผ. จากที่กฎหมายปัจจุบันได้มีการต่ออายุไป 2 รอบแล้ว และไม่สามารถต่ออายุได้อีก โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานเตรียมที่จะเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ซึ่ง นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้ให้นโยบายไปทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งส่วนกลาง และในพื้นที่ที่จะเปิดสัมปทานในต่างจังหวัด โดยสัมปทานรอบนี้จะมีทั้งหมด 22 แปลง คาดว่าจะมีสำรองก๊าซฯ ประมาณ 3-5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต , น้ำมันดิบ ประมาณ 20-30 ล้านบาร์เรล ซึ่งหากคำนวณจากการใช้ก๊าซฯ ของประเทศไทย 1.6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ก็จะใช้ก๊าซฯ ส่วนนี้ได้เพียว 2-3 ปีเท่านั้น ส่วนน้ำมันดิบประเทศไทยใช้ประมาณ 1 ล้านบาร์เรล/วัน ก็จะใช้ได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตามภาพรวมจะก่อให้เกิดการลงทุนไม่ต่ำวก่า 4 พันล้านบาท

ในส่วนของโครงการพัฒนาในพื้นที่ร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตก๊าซฯ อยู่ 1.2-1.3 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่งเข้าไทยประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มาเลเซียประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งตามข้อตกลงจะมีการแบ่งสัดส่วนก๊าซฯ ฝ่ายละครึ่ง โดยมาเลเซียจะมีการรับก๊าซฯ เพิ่มอีก 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในปี 2556 ดังนั้น ก๊าซฯ ในอ่าวไทยก็จะหายไปในสัดส่วนที่เท่ากัน ก็จะมีการนำ LNG มาทดแทน แต่ต้องยอมรับว่าราคา LNG ก็จะสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ